fbpx

จัดสรรเวลาสำหรับหินก้อนใหญ่ อย่าเสียเวลากับก้อนกรวด

ในชีวิตของคนเรานั้นมีอายุขัยเฉลี่ยเพียงสี่พันสัปดาห์

คำถามที่ควรถามกับตัวเอง ก็คือ เรามีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งใด? อะไรคือสิ่งที่เราแสวงหา?

แต่สิ่งที่เราทุกคนต้องเผชิญในแต่ละวันนั้น คือ มีงานต่าง ๆ มากมายที่เราต้องเผชิญ

แล้วเราควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรที่จะนำมาใช้ในการจัดการงานต่าง ๆ

แนวคิดการบริหารเวลา (Time Management) ด้วยการแบ่งแยกงานออกเป็นประเภท เร่งด่วน-ไม่เร่งด่วน กับ สำคัญ-ไม่สำคัญ นั้น ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่นิยมในการจัดการงานต่าง ๆ

งานประเภทที่หนึ่ง (Q1) – งานสำคัญและเร่งด่วน คือ งานที่เราต้องลงไปบริหารจัดการงานนั้นด้วยตัวเองในทันที เพื่อให้มั่นใจได้ว่างานจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ภายในเวลาที่กำหนด

งานประเภทที่สอง (Q2) – งานสำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน กับ งานประเภทที่สาม (Q3) – งานไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน นับเป็นงานสองประเภทที่สร้างความลำบากในการตัดสินใจในการเลือกทำงานของใครหลาย ๆ คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหลายคนมักตัดสินใจเลือกโดยให้น้ำหนักกับ “ความเร่งด่วน” มากกว่า “ความสำคัญ”

หากเราลองเปรียบเทียบ “งานสำคัญ เป็น หินก้อนใหญ่” และ “งานไม่สำคัญ เป็น ก้อนกรวด” โดยที่ขวดโหล คือ เวลาที่เรามี หากมองดูทางรูปภาพด้านซ้ายมือ การที่เราเลือกใส่ก้อนกรวดลงไปก่อน แล้วค่อยใส่หินก้อนใหญ๋ตามลงไปนั้น เราจะไม่เหลือที่ว่างสำหรับหินก้อนใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตของเรา

สิ่งที่เราควรเลือกจัดการ คือ แนวทางในรูปภาพด้านขวามือ ที่เราเลือกที่จะใส่หินก้อนใหญ่ลงไปในขวดโหลเสียก่อน แล้วค่อยใส่ก้อนกรวดตามลงไป ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีก้อนกรวดที่ไม่ได้ใส่ลงไป

ซึ่งก้อนกรวดที่ไม่ได้ใส่ลงไป ก็คือ งานประเภทที่สาม (Q3) – งานไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน ซึ่งเราจำเป็นต้องพัฒนาทีมงานให้ขึ้นมาเป็นมือซ้ายมือขวาของเรา แล้วมอบหมายงานเหล่านั้นให้เขาทำแทน

ส่วนตัวเราเองควรเอาเวลาไปใส่ใจกับหินก้อนใหญ่อื่น ๆ ซึ่งก็คือ งานประเภทที่สอง (Q2) – งานสำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน ซึ่งเป็นงานที่เราต้องทุ่มเทพลังในการคิด และวางแผนงานอย่างรอบคอบ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ลองทบทวนกับตัวเองดูว่า “อะไร คือ หินก้อนใหญ่ในชีวิตของเรา?”

“นายเรียนรู้”

บุญเลิศ คณาธนสาร

Line : @Lert

boonlert.alert@gmail.com

Related Posts