fbpx

"ความกลัว ความเชื่อ อำนาจ"

“ความกลัว ความเชื่อ อำนาจ”

(บทความนี้ถูกตีพิมพ์ลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2559)

ครอบครัวนับเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุด แต่นับเป็นหน่วยทางสังคมที่ทรงอิทธิพลมากต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เพราะเด็กจะเติบโตมาภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผู้นำครอบครัว ผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในครอบครัว (ไม่ว่าจะเป็นพ่อ หรือจะเป็นแม่ หรือจะเป็นพ่อและแม่ทั้งสองคนที่มีอิทธิพลร่วมกัน) เป็นผู้กำหนดให้ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อ ความปราถนาดีที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเหล่านั้น

ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้นำครอบครัว ก็คือ ประสบการณ์ที่ตนเองประสบพบเจอมาในแต่ละช่วงวัย ทำให้เกิดความระแวดระวัง ความกลัวต่อสภาพแวดล้อมของสังคมภายนอกที่เป็นอันตราย ทำให้เกิดเบ้าหลอมทางความคิดชุดหนึ่งขึ้นมาจนกลายเป็นความเชื่อว่าสภาพแวดล้อมใดที่ดีต่อเด็ก สภาพแวดล้อมใดที่เป็นอันตรายต่อเด็ก และพยายามใช้อำนาจที่ตนมีอยู่เข้าครอบงำ และกำหนดสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ

WP card front horizontal

ผู้เขียนฉุกคิดในประเด็นเกี่ยวกับ “ความกลัว ความเชื่อ อำนาจ” ที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงดูเด็ก ในหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ก็คือ ครอบครัว หลังจากที่ได้มีโอกาสดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Wolfpack : หมาป่าคอนกรีต” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของครอบครัวอังกูโล ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เล็ก ๆ ของรัฐใจกลางมหานครนิวยอร์ค ที่ถูกนำมาเปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้จักโดยผู้กำกับหญิง คริสตัล โมเซลล์ ที่ใช้เวลากว่า 4 ปีในการเข้าไปทำความรู้จัก และคุ้นเคยกับคนในครอบครัว

ครอบครัวอังกูโลมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน (ชาย 6 คน และหญิง 1 คน) โดยมีออสการ์ อังกูโล ผู้เป็นพ่อ เป็นผู้นำครอบครัว และเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของครอบครัวนี้

“My power is influence everybody” คือ คำพูดที่ออสการ์ อังกูโล ปริปากพูดออกมาในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

ออสการ์ อังกูโล ผู้เป็นพ่อ เป็นชายหนุ่มอิสระชาวเปรู ผู้มีความใฝ่ฝันที่จะเข้ามาทำงานเก็บเงินในเมืองใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์ค เพื่อที่พาตัวเองและครอบครัวไปใช้ชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศที่มีวิถีชีวิตตามที่เขาปรารถนา แต่ในโลกแห่งความจริงช่างแตกต่างจากโลกในความฝัน แผนการเก็บเงินไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย และเขามองว่าสภาพแวดล้อมในเมืองนิวยอร์คล้วนแวดล้อมไปด้วยอาชญากรรม และยาเสพติด เขาจึงใช้อำนาจตัดขาดครอบครัวจากโลกภายนอก

เป็นเวลากว่า 17 ปีที่พี่น้องทั้ง 7 คนถูกเลี้ยง และกักขังให้อยู่ในห้องเล็ก ๆ ในอพาร์ทเมนท์ตลอดเวลา โดยทุกคนไม่มีใครได้ไปโรงเรียน ทุกคนเติบโตมากับการเรียนแบบ Home School ที่มีซูซาน อังกูโลผู้เป็นแม่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนให้ โดยได้รับเงินสนับสนุนการเรียนจากรัฐ ผู้ที่ถือกุญแจห้องอพาร์ทเมนท์ คือ ผู้เป็นพ่อออสการ์ อังกูโลเท่านั้น

จากบทสัมภาษณ์พี่น้องทั้ง 7 คน ตลอดระยะเวลา 17 ปี พวกเขามีโอกาสที่จะออกไปข้างนอกเพียงไม่กี่ครั้ง มากที่สุด 9 ครั้งต่อปี บางปีไม่ได้ออกไปเลย และห้ามพูดหรือสบตากับคนแปลกหน้า

เรียกว่าพี่น้องทั้ง 7 คนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้โลกภายนอกอย่างแท้จริงเลยว่าเป็นเช่นไร แต่สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิต และบทสนทนาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันนั้น ได้มาจากการเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์ที่ผู้เป็นพ่อออสการ์ อังกูโล สะสมไว้กว่า 5,000 เรื่อง เป็นการเติบโต และเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมปิดที่ผู้เป็นพ่อกำหนดให้

แต่แล้วในที่สุดอำนาจของผู้เป็นพ่อที่ควบคุมพี่น้องทั้ง 7 คนเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี ก็ถูกท้าทายจากเหตุการณ์ที่ “มุกุนท์” หนึ่งในพี่น้องทั้ง 7 คน ที่ได้ตัดสินใจที่จะหลบหนีออกจากอพาร์ทเมนท์โดยไม่ได้รับอนุญาต

อะไรจะเกิดขึ้นตามมาเมื่ออำนาจของผู้เป็นพ่อถูกท้าทาย ?

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคนที่ถูกกักขังเป็นเวลากว่า 17 ปีออกมาเผชิญโลกภายนอกเพียงลำพัง ?

โดยในวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2559 เวลา 13:00-17:00 ทางร้าน House of Commons – Café&Space ร่วมกับ Documentary Club จะจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Wolfpack : หมาป่าคอนกรีต” และเปิดวงเสวนาร่วมกัน ผู้ที่สนใจสามารถลงชื่อจองได้ที่ 082-983-8099 (สถานที่จัดงาน : ร้าน House of Commons – Café&Space ถ.เจริญนคร ระหว่างซอย 20 กับ 22 ตรงข้ามปั๊มเชลล์)

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts