fbpx
Ultimate Skills 4of4 Square

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 4/4)

ในยุคที่โลกพลิกผันไวเป็นหน่วยวินาที ผู้ที่จะเอาชนะในกระแสธารแห่งความผันผวนนี้ จึงไม่ใช่คนที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าสุด หรือคาดการณ์อนาคตแม่นยำสุด

แต่เป็นคนที่มีทักษะแห่งอนาคต เตรียมไว้รับมือกับทุกความท้าทาย ไปสู่ “จุดสูงสุด” ได้โดยไม่มีวันถูกโค่นล้ม

และนี่คือสรุปสาระสำคัญจาก

หนังสือ “Ultimate Skills – ทักษะจำเป็นแห่งอนาคต”

20 ทักษะแห่งอนาคต ที่ไม่ใช่แค่ “มีก็ดี” แต่ “จำเป็นต้องมี”

Ultimate Skills

วันนี้เราจะมาต่อกันอีก 5 ทักษะสุดท้าย ได้แก่

ความเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

“เราไม่มีทางเข้าใจคนคนหนึ่งได้อย่างแท้จริง จนกว่าเราจะพิจารณา หลายๆสิ่งจากมุมมองของเขา จนกว่าเราจะเข้าไปอยู่ในร่างของเขาและลองใช้ชีวิตอยู่ในร่างนั้น”

ความเข้าใจผู้อื่น (Empathy) คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น ทำความเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงรู้สึกแบบนั้น หรืออาจถึงขั้นรู้สึกเหมือนที่อีกฝ่ายรู้สึก เพราะจินตนาการว่าหากเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร เมื่อเกิดความเข้าใจผู้อื่น หรือ Empathy นี้ขึ้นแล้ว เรามักจะตอบสนองด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย และรู้สึกกังวลต่อความเป็นอยู่หรือสภาพจิตใจของพวกเขา

แต่ Empathy จะไม่เหมือนกับ Sympathy นะครับ หลายๆคนมักจะสับสนกันระหว่างสองคำนี้ อธิบายง่ายๆเลยคือ ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) คือ ความรู้สึกสงสารเมื่อเห็นอีกฝ่ายอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งไม่ได้ถึงขั้นเข้าใจหรือรู้สึกเหมือนที่อีกฝ่ายรู้สึกอย่างการมีความเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

การที่พนักงานต่างมีความเข้าใจซึ่งกันและกันจะช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะการทำงานเป็นทีมต่างต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็น เกิดการถกเถียง หรือเกิดความขัดแย้งขึ้นบ้าง แต่การหาทางออกร่วมกันจะง่ายขึ้น หากเรามี Empathy ต่อกัน

นอกจากการทำงานเป็นทีมที่ดีขึ้นแล้วการทำงานร่วมกับลูกค้าก็ง่ายขึ้น ในโลกการทำงานเรามักจะเจอลูกค้าที่คุยยากและมีคำขอมากมาย หากเราจินตนาการว่าเราเป็นลูกค้าเสียเอง เราจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น และพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด

ยิ่งในงานบริการลูกค้า (Customer Service) การมีความเข้าใจผู้อื่นยิ่งสำคัญ เพราะเมื่อลูกค้ามาหาเราด้วยปัญหา จะมีอะไรที่ประทับใจลูกค้าเท่ากับการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ และดูแลลูกค้าดังเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ข้อดีที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คือ การก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ (Innovation) นั่นเองครับ เพราะนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น พนักงานต้องมีแรงจูงใจและมีพื้นที่ให้ลองผิดลองถูกเสียก่อน แต่องค์กรจะไม่สามารถกระตุ้นพนักงานได้เลย หากไม่มีความเข้าใจพนักงานในฐานะมนุษย์ ไม่มีการให้อภัย และไม่มีพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด

“หากไม่มีพื้นที่ให้ความเปราะบาง ก็จะไม่มีความคิดสร้างสรรค์

หากไม่มีความอดกลั้นต่อความล้มเหลว ก็จะไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ”

-เบรเนต์ บราวน์-

รู้จัก 7 ขั้นตอนสู่การสร้างความเข้าใจผู้อื่นในองค์กร

เฮเลน รีส บอกไว้ในหนังสือ The Empathy Effect ถึง 7 ขั้นตอนเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น โดยเธอได้ถอดมาจากตัวอักษรในคำว่า Empathy เพื่อให้จำง่ายดังนี้

E: Eye Contact (การสบตา)

การสบตาผู้พูดถือเป็นประตูบานแรกในการเชื่อมต่อกับอีกฝ่าย เพราะการสบตาจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังรับฟังอยู่ การสบตาทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจึงควรมองตาอีกฝ่ายและหันหน้าเข้าหากันเวลาพูดคุย

M: Muscles in Facial Expressions (กล้ามเนื้อบนใบหน้า)

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เรามักปกปิดไม่ค่อยได้คือการแสดงออกทางสีหน้า ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร โกรธ ดีใจ หรือเสียใจ ก็ต้องสังเกตสีหน้าของพวกเขาดู หากรับรู้ถึงอารมณ์แล้ว บางทีเราก็จะสามารถแสดงออกทางสีหน้าแบบเดียวกันได้ เพื่อสื่อสารว่าเรารู้สึกแบบที่อีกฝ่ายรู้สึก เช่น เมื่อใบหน้าของอีกฝ่ายแสดงออกถึงความเศร้า เราก็จะสามารถแสดงออกว่าเราเศร้าเช่นกันที่ได้ยินเช่นนั้น

P: Posture (ท่าทาง)

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า ในสายตาของผู้ป่วย คุณหมอที่นั่งคุยกับพวกเขาระหว่างการตรวจเยี่ยมนั้นดูอบอุ่นกว่า และใส่ใจกว่า อีกทั้งยังให้เวลากับคนไข้มากกว่าคุณหมอขณะที่ยืนตรวจ แม้ว่าทั้งสองจะพูดประโยคเดียวกันก็ตาม

จะเห็นได้ว่าท่าทางของเรานั้นสื่ออะไรมากกว่าที่เราคิด

A: Affect (ความรู้สึก)

การแยกแยะและระบุให้ได้ว่าความรู้สึกที่อีกฝ่ายรู้สึกอยู่คืออะไร จะช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมและข้อความที่อีกฝ่ายกำลังสื่อได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราระบุได้ว่าอีกฝ่ายกำลังโกรธ คำว่า “ไม่เป็นไร” ของอีกฝ่ายอาจจะไม่ได้หมายความเช่นนั้นจริงๆ

T: Tone (น้ำเสียง)

อย่างที่บอกไปว่ามนุษย์ปกปิดการแสดงออกทางสีหน้าได้ยาก การปกปิดน้ำเสียงก็ยากไม่แพ้กัน การศึกษาพบว่าเมื่อมนุษย์เผชิญกับอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ความกลัวหรือความเครียด เราจะเกิดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight or Flight) และสมองส่วนที่ทำงานในเวลานั้นจะเป็นส่วนเดียวกับสมองที่ควบคุมการแสดงทางสีหน้าและน้ำเสียง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อเราเกิดความรู้สึกรุนแรงบางอย่าง สีหน้ากับน้ำเสียงจะแสดงออกให้เห็นก่อนอย่างอื่น

H: Hearing (การรับฟัง)

จงฟังอย่างตั้งใจ ฟังโดยเปิดใจให้กว้าง ฟังด้วยความอยากรู้ อยากเข้าใจ และฟังแบบไม่ตัดสินใดๆ ที่สำคัญต้องมี Self-Awareness ด้วยว่าเรากำลังได้ยินเฉยๆหรือฟังอยู่จริงๆ

Y: Your Response (การตอบสนองของเรา)

สิ่งสำคัญสุดท้ายคือการตอบสนอง เราจะตอบอย่างไร ใช้คำพูดอย่างไร ใช้น้ำเสียง และแสดงท่าทางอย่างไร ให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึก รู้สึกอย่างที่อีกฝ่ายรู้สึก และพร้อมให้ความช่วยเหลือหากต้องการ

“ความรักและความเมตตาเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย

หากปราศจากสองสิ่งนี้ มนุษย์เราจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”

-ทะไลลามะ-

เรามีความรัก (Love) และความเมตตา (Compassion) เราคิดถึงผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนรัก เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้า เรายินดีเมื่อพวกเขามีความสุข เราเจ็บปวดเมื่อเขามีความทุกข์ และเราพยายามอย่างยิ่งเพื่อจะช่วยบรรเทา และนี่คือพลังของสิ่งที่เรียกว่า Empathy

การคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset)

แนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้นสำคัญต่อความสำเร็จและเราควรจะนำมาปรับใช้ในการทำงาน ไม่ว่าเราจะทำงานให้องค์กรหรือธุรกิจเราเองก็ตาม

คุณลักษณะที่มาพร้อมกับแนวคิดแบบผู้ประกอบการล้วนสำคัญและเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น อันดับแรกคือการเป็นคนที่ ”มุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Solutions-Oriented)” เมื่อเจอปัญหาคนที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการจะฟื้นตัวเร็วและมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่รอบๆตัว พวกเขาไม่ได้มองปัญหาเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต้องถอยหลัง แต่เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้เสียมากกว่า แน่นอนว่าการจะมีทัศนคติเช่นนี้ได้พวกเขาจะต้องมีกรอบความคิดแบบยืดหยุ่น และเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

“ความสามารถในการปรับตัว” ก็เป็นคุณลักษณะที่สำคัญในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย การปรับตัวได้ไวก็หมายถึงก้าวไปได้ไกลกว่า ระดับการปรับตัวนั้นมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการยอมทิ้งไอเดียดั้งเดิมเมื่อพบว่ามันไม่เวิร์กและเปลี่ยนไปใช้ไอเดียใหม่อย่างรวดเร็ว

ส่วนอีกคุณลักษณะคือการมี “ภูมิต้านทานต่อเรื่องเลวร้าย (Anti-Fragile)” ซึ่งบิล ออเล็ต กรรมการผู้จัดการ Martin Trust Center แห่ง MIT Entrepreneurship ได้แบ่งไว้ 4 ส่วน คือ

  • Heart (หัวใจ) หมายถึง ความมั่นใจ พร้อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง
  • Head (หัว) หมายถึง ความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ เราควบคุมมันไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการตอบสนองของเรา แทนที่จะหมกหมุ่นกับสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้ว ให้หันมาโฟกัสว่าก้าวต่อไปเราจะทำอย่างไรดี
  • Hand (มือ) หมายถึง การเปลี่ยนแผนการและความคิด ให้เป็นสิ่งที่ลงมือทำได้จริง
  • Home (บ้าน) หมายถึง การมีทีมที่คอยให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังสำคัญ เพราะตัวเราเพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับหลายคนช่วยกัน

การมีศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม (Ethics and Social Responsibility)

ในโลกปัจจุบันที่ผู้บริโภคมีความตระหนักมาขึ้นเรื่อยๆ การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจึงกลายมาเป็นประเด็นต้นๆที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจเพื่อที่จะสามารถก้าวต่อไปได้ในโลกแห่งการแข่งขัน

จากการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐฯโดย McKinsey ในปี 2020 เมื่อถามผู้บริโภคว่าพวกเขาใส่ใจเรื่องการบริโภคสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผู้บริโภคจำนวนมากตอบว่าใส่ใจ และกว่า 60% บอกว่าพวกเขายินดีอย่างยิ่งที่จะจ่ายแพงกว่าหากบรรจุภัณฑ์นั้นยั่งยืน นอกจากนั้นการสำรวจจาก NielsenIQ ก็พบเช่นกันว่า กว่า 78% ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ บอกว่าวิถีชีวิตแบบยั่งยืนนั้นสำคัญสำหรับพวกเขามาก

สินค้าตัวไหนที่แสดงให้เห็ยว่าบริษัทสนับสนุนแนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) จะมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าสินค้าปกติ และธุรกิจที่สนับสนุนแนวคิดนี้ต่างก็เติบโตขึ้น

ส่วนคนเจเนอเรชันที่ให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้มากที่สุด คือ Gen Z แม้ในปัจจุบันคนเจเนอเรชันนี้ยังไม่ใช่กลุ่มที่มีกำลังซื้อมากที่สุด แต่ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

นอกจากจะช่วยสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคแล้ว การเป็นธุรกิจที่มีศีลธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมยังส่งผลเชิงบวกต่อพนักงานอีกด้วย

ข้อมูลจาก Harvard Business School ระบุว่า 95% ของพนักงานที่สำรวจเชื่อว่าธุรกิจนั้นควรสร้างผลประโยชน์ต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงพนักงาน ลูกค้า สังคม และชุมชนที่เกี่ยวข้อง

อีกการสำรวจจาก Morgan Lovell ที่สำรวจพนักงานออฟฟิศกว่า 1,000 คน บอกกับเราว่า 62% ของพนักงานระบุว่าการที่นายจ้างของพวกเขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ความสามารถในการก้าวข้ามวัฒนธรรม (Cross-Cultural Competence)

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เราคงสัมผัสได้หากเรามีเพื่อนชาวต่างชาติ เคยไปเที่ยวต่างประเทศ หรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ เราคงจะเข้าใจเป็นอย่างดี หลายๆครั้งเรื่องที่เป็นปกติของเราอาจไม่ใช่เรื่องปกติของพวกเขา ความไม่เข้าใจและความขัดแย้งจึงตามมา

สำหรับคนทำงาน การไปทำงานต่างประเทศนั้นมีข้อดีมากมาย ทั้งได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ฝึกภาษา ได้เลื่อนตำแหน่งและเงินเดือน อีกทั้งยังดีต่อเรซูเม่อีกด้วย ส่วนในมุมมองบริษัทก็มีข้อดีมากมายจากการรับพนักงานต่างชาติเช่นกัน ชัดเจนที่สุดคือการได้คนที่มีความสามารถตามที่ต้องการมาร่วมงาน และยังมีข้อดีทางอ้อม คือ ความหลากหลาย (Diversity) ที่นอกจากจะเป็นประเด็นที่องค์กรยุคใหม่พยายามชูเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรแล้ว การรวมกลุ่มกันของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายยังนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรเต็มไปด้วยคนจากหลากหลายวัฒนธรรม สิ่งที่ตามมาก็หนีไม่พ้นความท้าทายในการทำงานร่วมกัน ขนาดคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ยังมีหลายปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจจึงจะทำงานได้อย่างราบรื่น การทำงานร่วมกันของคนต่างภาษาและต่างวัฒนธรรมจึงยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก ความท้าทายแรกๆที่หลายองค์กรต้องเจอคงจะหนีไม่พ้นอุปสรรคทางภาษา (Language Barrier)

ต่อมาที่มักจะเจอคือ สไตล์ของการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศทางฝั่งตะวันตกมักจะสื่อสารกันแบบตรงไปตรงมา (Direct Communication) ในขณะที่ฝั่งตะวันออกมักจะเป็นการสื่อสารแบบอ้อมๆ (Indirect Communication) ที่ต้องตีความอวัจภาษาร่วมด้วย เช่น การหยุดพูด การเงียบ หรือโทนเสียง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมของประเทศตะวันออกส่วนใหญ่มักจะมีความเป็นหมู่เหล่าและมีลำดับชั้น ซึ่งให้คุณค่ากับความสามัคคีกลมกลืนและการรักษาหน้า ผู้คนจึงมักจะสื่อสารอ้อมๆ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง ยกตัวอย่างเช่น การไม่กล้าปฏิเสธตรงๆว่าไม่ได้ แต่จะบอกว่าอาจจะ หรือตอบตกลงทั้งๆที่ไม่เต็มใจ

ความท้าทายอีกอย่างที่อาจเจอคือทัศนคติต่อการมีลำดับขั้นต่ำสูง (Hierarchy) ผู้มีอำนาจ (Authority) หรือความอาวุโส (Seniority) ในบางวัฒนธรรม อายุของบุคคล อายุในการทำงาน หรือตำแหน่งนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นพนักงานจูเนียร์แล้วพบปัญหาในการทำงานจึงไปพูดคุยกับหัวหน้า พนักงานระดับซีเนียร์บางคนอาจมองว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตา

เรื่องของการตัดสินใจ (Decision Making) ก็เป็นหนึ่งความท้าทายที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ในบางวัฒนธรรมการตัดสินใจอาจใช้เวลาไม่นานเพราะเป็นการตัดสินใจจากบนลงล่าง (Top-Down) แต่ในบางวัฒนธรรมอาจต่างกันออกไป เช่น ในญี่ปุ่นจะมีวิธีการตัดสินใจอันเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า “รินกิ” ซึ่งเป็นการตัดสินใจแบบฉันทามติจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) โดยเอกสารการขออนุมัติที่เรียกว่า “รินกิโชะ” จะถูกเวียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอ่าน และลงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่

ตัวอย่างความท้าทายที่องค์กรต้องเจอเหล่านี้ หากไม่มีวิธีรับมือที่ถูกต้องอาจนำไปสู่ปัญหาและสร้างความไม่พึงพอใจแก่พนักงานได้ และจะนำไปสู่ผลิตผลที่ลดลงและคุณภาพที่ด้อยลงตามไปด้วย ซึ่งเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่องค์กรไม่อยากให้เกิดขึ้นแน่นอน

สำหรับพนักงานเอง หากเราต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้กับเพื่อนร่วมงาน การไปทำงานคงห่างไกลจากคำว่าความสุขไปกันใหญ่ ด้วยเหตุนี้ทักษะในการก้าวข้ามวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทั้งองค์กรและคนทำงานในยุคปัจจุบัน

ความสามารถในการก้าวข้ามวัฒนธรรม Cross-Cultural Competence (3C) คือ ความสามารถในการเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสื่อสารหรือปฏิบัติต่อผู้อื่นที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงววิธีการคิด การสื่อสาร และพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากวัฒนธรรมของตนเองด้วย

ในโลกการทำงาน หากพนักงานมีทักษะในการก้าวข้ามวัฒนธรรม จะช่วยลดความขัดแย้ง รับมือกับอุปสรรคได้ดี และทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มความสามารถในการข้ามวัฒนธรรมนั้นต้องมี 3 สิ่งต่อไปนี้ คือ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) สติ (Mindfulness) และความสามารถในการคิดไตร่ตรอง (Reflexivity)

การมีความเห็นอกเห็นใจนั้นจะช่วยให้เรามีสมมติฐานอยู่ในใจเสมอว่าเราทุกคนล้วนแตกต่าง ดังนั้นหากเราต้องเผชิญกับคำพูดหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากที่เราคาดไว้ แทนที่จะด่วนสรุปว่าพวกเขาเหล่านั้นมีเจตนาไม่ดี เราจะหาทางสื่อสาร ทำความเข้าใจ และช่วยกันหาทางออกแทน

การมีความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เราเข้าใจและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีแน่นอน แต่เท่านั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะการเจริญสติ และการคิดไตรตรองก็สำคัญไม่แพ้กัน

การมีสติหรือ Mindfulness นั้นสามารถเพิ่มพูนได้โดยการฝึกสังเกตและฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) หรือจะฝึกผ่านการนั่งสมาธิหรือใช้เทคนิคหายใจก็ช่วยได้ การศึกษาพบว่าการปรับลมหายใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์และความคิดได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราโฟกัสได้ดีและลดความเครียดได้อีกด้วย

นอกจากนั้นการหาเวลามาคิดไตรตรองอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดี วิธีที่แนะนำก็คงจะหนีไม่พ้นการเขียนมันออกมา

ความสามารถในการก้าวข้ามวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับ 3 สิ่งนี้ คือ ความเห็นอกเห็นใจ การมีสติ และรู้จักคิดไตร่ตรอง เราควรหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ หากอยากทำงานให้ราบรื่นและเติบโตในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นทุกวัน ที่สำคัญอย่าลืมว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสอนอะไรใหม่ๆเราตลอดเวลา ดังนั้นการเรียนรู้ในเรื่องนี้จึงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การคิดแบบมองไปข้างหน้า (Forward Thinking)

เมื่อเผชิญกับความท้าทาย สัญชาตญาณมักพาเรากลับไปเรียนรู้จากเรื่องราวในอดีตเพื่อหาทางรับมือ อย่างไรก็ตามหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจะทำอย่างไร

ความสามารถในเรื่อง “การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight)” อาจเป็นคำตอบ เครื่องมือที่คนพูดถึงกันบ่อยๆ คือ Scenario Planning หรือการวางแผนจาเหตุการณ์ต่างๆที่เราจินตนาการว่าอาจจะเกิดขึ้น

Scenario Planning จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง เพราะทักษะในการวางกลยุทธ์และการตัดสินใจของเราจะถูกลับคมให้พร้อมจากสองแหล่งขุมทรัพย์อันล้ำค่า ซึ่งก็คือ บทเรียนในอดีต และจินตนาการในอนาคต

การฝึกทักษะการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ ลองจินตนาการ วางแผน และเรียนรู้จากอนาคต สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราคิดแบบมองไปข้างหน้าได้ดี แต่นอกจากจะช่วยให้เรารับมือกับอนาคตแล้ว ในโลกการทำงานปัจจุบันมันจะช่วยเราในการมองหาโอกาส ความวุ่นวายและช่วงเวลาไม่แน่นอนที่อาจจะมาถึง แม้จะยากเข็ญ แต่มันอาจเต็มไปด้วยโอกาส

3 สิ่งที่ต้องมีเพื่ออยู่รอดในอนาคต

Courage : ความกล้าหาญ

ความกล้าหาญนี้ไม่ใช่ความกล้าหาญที่จะไปรบตบตีกับใคร แต่เป็นความกล้าหาญในการยอมรับว่า เราอยู่ในโลกที่เรารู้อะไรน้อยมาก กล้าหาญพอที่จะวางความรู้และประสบการณ์เดิมๆเพื่อลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆดูบ้าง

ความกล้าหาญยังรวมถึงความกล้าพอที่จะล้ม กล้าพอที่จะรับมือกับความผิดหวัง และกล้าพอที่จะรีบปาดน้ำตาและลุกขึ้นมาสู้ต่อ

Empathy : ความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

เราอยู่ในโลกที่ผู้คนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ความขัดแย้งเกิดขึ้นให้เห็นทั่วทุกหัวระแหง เราต้องการผู้คนที่ไม่ได้มองเรื่องราวต่างๆจากมุมมองของตัวเองแค่มุมเดียว แต่สามารถมองและเข้าใจต้นเหตุของความเห็นต่าง ยอมรับในความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกับเรา รวมถึงกระทั่งเห็นความงดงามในความแตกต่างนั้นด้วย คนที่มี Empathy จะอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขมากกว่า และมีแนวโน้มจะจัดการปัญหาอันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆของอนาคตได้ดีกว่าด้วย

Happiness : การเมตตาต่อตัวเอง

Happiness ในที่นี้คือการเมตตาต่อตัวเอง เมตตาต่อตัวเองด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พาตัวเองไปอยู่ในสังคมแห่งการแบ่งปัน นี่เป็นการเมตตาต่อทั้งตัวเราเอง และแบ่งปันความเมตตานั้นให้คนอื่นได้ด้วย

อ่านบทความก่อนหน้า

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 1/4)

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 2/4)

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 3/4)

“นายเรียนรู้”

บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ

ติดตามอ่านบทความของ “นายเรียนรู้” เพิ่มเติมได้ที่ www.nairienroo.com

ติดต่องานฝึกอบรม และที่ปรึกษาได้ที่ Line : @Lert และที่ www.alertlearning.co.th

Related Posts