fbpx
Ultimate Skills 1 of 4 Square

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 1/4)

ในยุคที่โลกพลิกผันไวเป็นหน่วยวินาที ผู้ที่จะเอาชนะในกระแสธารแห่งความผันผวนนี้ จึงไม่ใช่คนที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าสุด หรือคาดการณ์อนาคตแม่นยำสุด

แต่เป็นคนที่มีทักษะแห่งอนาคต เตรียมไว้รับมือกับทุกความท้าทาย ไปสู่ “จุดสูงสุด” ได้โดยไม่มีวันถูกโค่นล้ม

และนี่คือสรุปสาระสำคัญจาก

หนังสือ “Ultimate Skills – ทักษะจำเป็นแห่งอนาคต”

20 ทักษะแห่งอนาคต ที่ไม่ใช่แค่ “มีก็ดี” แต่ “จำเป็นต้องมี”

Ultimate Skills

วันนี้เราจะว่าด้วย 5 ทักษะแรก ได้แก่

1. ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling)

ใช่หรือไม่? ที่หลายครั้งที่มีคนเล่าเรื่องให้คุณฟัง จนคุณตั้งใจฟังอย่างใจจดจ่อ จินตนาการต่อไปแล้วว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น จนร่างกายคุณหลั่งสารโดพามีน นี่แหละครับประสบการณ์ที่ได้จากการฟังเรื่องเล่า

ในโลกธุรกิจและชีวิตการทำงานของเรานั้น การโน้มน้าวใจเป็นเรื่องสำคัญและเกิดขึ้นแทบตลอดเวลา ตั้งแต่การชักชวนเพื่อนในทีมให้เห็นด้วยกับความเห็นของเรา การโน้มน้าวทีมบริหารในห้องประชุม ไปจนถึงการโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้าจากเรา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่องค์กรพบเจอบ่อยๆ คือ การสื่อสารที่ไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวใจผู้อื่น

ส่วนใหญ่แล้วเรามักนำเสนอแต่ข้อมูลและตัวเลข ด้วยที่คิดไปเองเพียงด้านเดียวว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ

แต่จริงๆแล้วมนุษย์อย่างเราใช้ “อารมณ์และความรู้สึก” ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผลเสียอีก

ในหนังสือชื่อดัง Thinking, Fast and Slow ของแดเนียล คาห์เนแมน อธิบายว่า ระบบความคิดที่มีอิทธิผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์มีอยู่สองระบบ คือ การคิดแบบเร็ว และการคิดแบบช้า

การคิดแบบเร็ว คือ การคิดอย่างไม่ตั้งใจและเป็นไปตามสัญชาตญาณ เรียกว่าเป็นสมองส่วนที่ใช้ความรู้สึก หรือ Gut Feeling นำล้วนๆ สิ่งที่เราเรียกว่าความประทับใจแรกพบ (First Impression) ก็มาจากการทำงานของการคิดแบบเร็วนี่แหละครับ

การคิดแบบช้า คือ สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) สมองส่วนนี้ทำให้เราฉลาดเหนือสัตว์อื่นๆ หน้าที่อย่างหนึ่งของมันก็คือ การคิดแบบตั้งใจ ใช้สติ และความพยายาม ซึ่งการคิดแบบนี้จะใช้สมาธิและพลังงานสมองมาก มักใช้ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การคิดแบบเร็วมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่า เพราะวิธีคิดในรูปแบบนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ สอดคล้องกับระบบร่างกายที่ต้องการประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการคิดแบบเร็ว จึงเป็น Default Mode คือ ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ เราจะใช้สมองส่วนนี้โดยอัตโนมัติ นั่นจึงทำให้มนุษย์คล้อยตามอารมณ์ได้ง่ายกว่าเหตุผล

นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมทักษะการเล่าเรื่องถึงเป็นประโยชน์ต่อเราในโลกธุรกิจและการทำงาน เพราะถ้าอีกฝ่ายที่เราต้องการโน้มน้าวนั้นรู้สึกว่าเขา “ชอบ” หรือ “ไว้ใจ” เราแล้วละก็ เรื่องอื่นจะง่ายขึ้นมาก

เล่าอย่างไรให้เข้าถึงใจผู้คน

แคโรลีน โอฮารา นักเขียนจากนิตยสาร Harvard Business Review บอกเคล็ดลับการเล่าเรื่องไว้ดังนี้

  • เริ่มต้นด้วยใจความเดียว

ถามตัวเองก่อนว่าเราจะสื่อสารอะไร และสื่อสารให้ใครฟัง เพื่อให้เรื่องที่เราจะเล่าสอดคล้องกับใจความ และไม่ออกนอกทะเลจนผู้ฟังหลงประเด็น

  • เล่าผ่านประสบการณ์ส่วนตัว

มีบทเรียนอะไรบ้างที่เราได้เรียนรู้จากความล้มเหลวจนนำไปสู่ความสำเร็จ หรือบทเรียนอะไรบ้างจากผู้มีประสบการณ์ที่เรายังทำตามจนถึงทุกวันนี้ เรื่องเล่าที่ฟังดูจริงใจ จับต้องได้ และเข้าถึงง่ายนี้แหละที่จะทำให้ผู้ฟังคล้อยตาม

“กุญแจสำคัญคือต้องเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของเรา”

  • จงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยอดมนุษย์

หากเรายกตัวเองเป็นฮีโร่ พูดถึงแต่ด้านดีๆ ในแบบที่เกินจริง การโน้มน้าวอาจไม่สำเร็จนัก เพราะเรื่องเหล่านี้อาจห่างไกลและเข้าถึงผู้ฟังได้ยาก ขอให้เล่าแบบคนธรรมดาๆ เล่าด้วยความถ่อมตัว เนื้อหาจะจับใจผู้ฟังมากกว่า

  • ตอกย้ำถึงอุปสรรคที่เจอ

เรื่องราวที่ไม่มีความท้าทาย ยากจะทำให้คนสนใจ ดังนั้นแทนที่จะกวาดเรื่องแย่ๆซุกใต้พรม เราควรนำอุปสรรค และประสบการณ์มาแบ่งปันจะดีกว่า ผู้ฟังจะได้เชื่อมถึงเรามากขึ้น เพราะเราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่ต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคในชีวิตไม่ต่างกัน

  • อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

การสื่อสารของเราจะสมบูรณ์แบบขึ้น หากมันสั้น เรียบง่าย และได้ใจความ เพราะสมาธิของแต่ละคนมีจำกัด และการเพิ่มรายละเอียดที่ไม่จำเป็นจนยืดยาวอาจทำให้หลายๆคนหลุดโฟกัส

“ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายอะไรให้เรียบง่ายได้ แปลว่าคุณยังไม่เข้าใจมันดีพอ”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

  • เล่าด้วยภาพ

การบรรยายให้ผู้คนเห็นภาพนั้นทรงพลังยิ่งกว่าการบอกเล่าเฉยๆอยู่แล้ว แต่ในยุคปัจจุบันที่เวลาและสมาธิของผู้คนมีจำกัด การแสดงออกให้เห็นเลยผ่านภาพ เสียง หรือวิดีโอเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดี

  • ฝึกฝนก่อนเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นการพูดในห้องประชุมหรือพูดคุยกับลูกค้า การนำเสนอของเราถือเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ต้องฝึกฝน การฝึกฝนเท่านั้นที่จะช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาดีอย่างที่หวังไว้

เชื่อเถอะครับว่าถ้าเราเข้าถึงอารมณ์ของผู้คนได้ พวกเขาจะจดจ่อกับสารที่เราต้องการสื่อสารมากขึ้น จากนั้นการโน้มน้าวให้พวกเขาตัดสินใจอย่างที่เราต้องการจะไม่ใช่เรื่องยากเลย

2. กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset น่าจะเป็นหนึ่งในคำที่คนพูดบ่อยสุดในรอบห้าปีที่ผ่านมา กลายเป็นคำที่ได้ยินตลอด เวลาพูดถึงการพัฒนาตนเองและการทำงาน แต่จริงๆแล้วเราเข้าใจคำนี้มากน้อยแค่ไหน

แม้ทฤษฎีเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต จะปรากฏครั้งแรกตั้งแต่ปี 1988 แต่แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกครั้ง ตอนแคโรล เดว็ก นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนหนังสือเรื่อง Mindset : Changing the way you think to fulfil your potential

โดยเป็นการศึกษาว่ามนุษย์เรารับมืออย่างไรกับความล้มเหลว ซึ่งตอนแรกเธอคาดว่าน่าจะมีผลลัพธ์เพียงแค่ 2 อย่าง คือ รับมือกับความล้มเหลวได้ กับ รับมือไม่ได้

แต่เธอประหลาดใจมากที่พบว่ามีคนรักความล้มเหลวด้วย พวกเขาไม่ได้หมดกำลังใจที่ทำไม่สำเร็จ จริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้คิดว่ากำลังล้มเหลวด้วยซ้ำ พวกเขาคิดว่าตนเองกำลังเรียนรู้

เหตุการณ์นี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอศึกษาต่อ จนค้นพบว่าจริงๆแล้วความสำเร็จของคนคนหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีความสามารถมาตั้งแต่เกิดหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของพวกเขาต่างหาก แคโรลจำแนกวิธีคิดไว้สองรูปแบบ ได้แก่ กรอบความคิดตายตัว (Fixed Mindset) และกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

คนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset)

คนพวกนี้เชื่อว่า ความเก่ง ความฉลาด และความสามารถของคนคนหนึ่งถูกกำหนดมาแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือพัฒนา อธิบายง่ายๆ คือ เกิดมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แนวคิดเช่นนี้จะหยุดยั้งการเรียนรู้ เพราะคนที่เชื่อเช่นนี้มักไม่ให้โอกาสตัวเองได้ลองผิดลองถูก อะไรที่พวกเขาทำไม่ได้ก็จะไม่ทำเลย เพราะเชื่อว่าไม่เหมาะหรือไม่ใช่สำหรับพวกเขา

คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

คนพวกนี้เชื่อว่า คนคนหนึ่งเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ ความฉลาดและความสามารถนั้นไม่ได้เกิดมาก็มีเลย แต่ต้องใช้ความพยายามในการพัฒนามันขึ้นมา คนที่เชื่อเช่นนี้จะมองว่าตนไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ สามารถล้มเหลวได้ ไม่มองว่าความผิดพลาดเป็นจุดจบแต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ต่างหาก

แล้วเราจะสร้าง Growth Mindset อย่างไร

การมีกรอบความคิดแบบเติบโตจะช่วยเปิดประตูสู่ความสำเร็จในหลายๆเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน แต่รวมถึงชีวิตและความสัมพันธ์ด้วย คำถามคือ เราจะปลูกฝังแนวคิดแบบยืดหยุ่นนี้ให้ตัวเองอย่างไร

เอเลน อีเลียต-มอสกวา นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Growth Mindset Workbook แนะนำว่า เราต้องเริ่มจากการ “ตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness)” ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีแนวคิดแบบ Fixed Mindset หรือ Growth Mindset แบบ 100% ดังนั้นเราต้องตระหนักให้ได้ว่า ในช่วงเวลานี้เรามีแนวคิดแบบไหน หากพบว่าตัวเองกำลังมีแนวคิดแบบตายตัว ก็ต้องตระหนักและยอมรับ จากนั้นให้ตั้งใจคิดแบบตรงกันข้ามและเชื่อว่าเราพัฒนาได้ ซึ่งในช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูก เราจะรู้สึกอึดอัดและรู้สึกไร้ความสามารถอยู่บ้าง แต่ต้องปล่อยวางอีโก้ และอนุญาตให้ตนเองเป็นคนไม่รู้หรือทำพลาดบ้าง

องค์กรก็สามารถมีส่วนสนับสนุนให้พนักงานลองผิดลองถูก เปิดพื้นที่กับพนักงานได้เติบโตอย่างแท้จริง ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้ การลองผิดลองถูกแบบจำกัดความเสี่ยง จึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร รวมถึงช่วยปลูกฝังชุดความคิดแบบ Growth Mindset ให้กับพนักงานไปในตัวด้วย

3. ความฉลาดในการปรับตัว (Adaptive Quotient)

เราเชื่อกันมาโดยตลอดว่า ปัจจัยที่จะกำหนดว่าชีวิตการทำงานของใครสักคนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ IQ และ EQ เท่านั้น อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดดังกล่าว เพราะมีอีกปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน นั่นก็คือ AQ (Adaptive Quotient) หรือความฉลาดในการปรับตัว

สปีชี่ที่จะอยู่รอด ไม่ใช่สปีชี่ที่แกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เป็นสปีชี่ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด

ชาลส์ ดาร์วิน

สถาบัน The Creative Thinking Institute นิยามความหมายของ AQ ว่า เป็นความสามารถในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง และก้าวหน้าต่อไปได้ ด้วยการเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างและอยากรู้อยากเห็น รู้จักปล่อยวางความรู้เดิม และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้ตัวเอง เมื่อหกล้มเพราะอุปสรรคก็ลุกขึ้นสู้ต่ออย่างไม่ย่อท้อ และอดทนเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันก็รู้จักนำทักษะการแก้ปัญหามาใช้จนประสบความสำเร็จ

ในแง่ธุรกิจ AQ คือ ความสามารถในการปรับทิศทางและกลยุทธ์ เพื่อให้สินค้าและบริการนั้นสอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดที่ผันผวน

ส่วนในระดับบุคคลนั้น AQ คือ การปรับตัว เรียนรู้ทักษะใหม่ๆที่จำเป็นเพื่อเอาตัวรอดและก้าวหน้าในโลกการทำงานนั่นเอง

บ่มเพาะ AQ ทั้ง 5 ด้าน เพื่อความสำเร็จในอนาคต

การปรับตัวฟังดูเป็นเรื่องง่าย แค่ยืดหยุ่นและเปิดใจก็ทำได้แล้วใช่ไหม จริงๆมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นครับ ในสถานการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย และมีความเสี่ยงสูง เมื่อเราตื่นตระหนกและไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหน ก็มักแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ที่เคยได้ผลในอดีตตามสัญชาตญาณ

ทักษะการปรับตัวนั้นไม่สามารถได้มาง่ายๆ มันเป็นการเรียนรู้จากการรับมือกับความท้าทายซ้ำๆเป็นเวลานาน

ก้าวแรกของการพัฒนาทักษะนี้ คือ เราต้องมีการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) เราต้องรู้ว่า 5 ด้านของการปรับตัว เราทำด้านไหนได้ดีเป็นพิเศษ และด้านไหนต้องพัฒนา

  • การปรับตัวด้านการเรียนรู้ (Learning Adaptability)

สมองของเราถูกสร้างมาเพื่อให้เรียนรู้ตลอดชีวิต แต่โชคร้ายที่หลายคนหยุดการเรียนรู้เมื่อจบการศึกษา แทนที่เราจะเป็นหนึ่งในนั้น ลองเป็นคนเปิดกว้าง และหาโอกาสเรียนรู้จากสิ่งรอบๆตัว

  • การปรับตัวด้านการตอบสนอง (Reactive Adaptability)

เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เรามักตื่นตระหนก และเข้าสู่โหมดสู้หรือหนี (Fight or Flight) ทันที แต่เราต้องฝึกรับมือกับช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ด้วยการรู้ว่าจะสงบสติอารมณ์อย่างไร ตระหนักว่ามีอะไรที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้บ้าง และจะตอบสนองอย่างไร การฝึกแยกสิ่งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้อย่างรวดเร็วนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เราตัดสินใจเฉียบคมและใช้ทรัพยากรน้อยลงมาก

  • การปรับตัวด้านสังคม (Social Adaptability)

อย่างที่รู้กันครับว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม งานส่วนใหญ่บนโลกนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน ความสามารถในการปรับตัวต่อมุมมองความเห็น และความต้องการของคนอื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งกว่านั้นความรู้หรือความคิดเห็นของคนอื่นยังจะช่วยพัฒนาให้งานของเราดียิ่งขึ้น

  • การปรับตัวด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Adaptability)

เรามักมีเวลาและทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาที่พบเจออย่างจำกัด หากเรามีความสามารถในการคิดนอกกรอบ หรือจากมุมมองใหม่ๆ อาจนำพาไปสู่ทางออกที่ดียิ่งกว่าเดิม วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์คือ การสะสมความรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือมากๆ คุยกับคนมากๆ ลองทำงานหลากหลายแบบ เสพสื่อหลากหลาย ในวันที่สะสมความรู้พวกนี้ เรายังไม่รู้หรอกว่าจะได้นำไปใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าถึงเวลาที่ได้เอาออกมาใช้ รับรองว่าคุ้มจริงๆครับ

  • การปรับตัวด้านการใช้ชีวิต (Lifestyle Adaptability)

ในชีวิตการทำงานหากเราไม่ปรับตัวและใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เช่น ไม่ออกกำลังกายเลย หรือไปเที่ยวดึกดื่นในคืนวันหยุดจนร่างกายรับไม่ไหว ในช่วงที่งานถาโถม ก็อาจส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานและนำไปสู่อาการหมดไฟ

หากเราเป็นคนที่ชอบเรียนรู้และรับมือได้ดีเมื่อเจอโจทย์ใหม่ แต่มักลนลานเมื่อโจทย์นั้นสำคัญและเร่งด่วน อีกทั้งยังเป็นคนทุ่มงานสุดๆไม่สนสุขภาพเมื่อต้องทำงานสำคัญ ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสามารถในการปรับตัวโดยรวมของเราอาจจะยังไม่สูงมากนัก ซึ่งอาจส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาด้วย

4. ทักษะการแก้ปัญหาอันซับซ้อน (Complex Problem Solving)

ยิ่งโลกใบนี้พัฒนาไปไกลและคาดเดายาก ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อน เพราะมักเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซึ่งทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนหลายกลุ่ม การหาทางออกนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเมื่อแก้ปัญหาหนึ่งแล้วกลับเจออีกปัญหาหนึ่ง หรือไม่ก็ส่งผลกระทบกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่มีทางที่จะทำให้คนทุกกลุ่มพึงพอใจได้

เชื่อว่าหลายคนเคยใช้เวลานานในการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในบางเรื่อง แต่ถึงแม้จะคิดนานและคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้ว สุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ดีตามที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งก็คือ ในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจของเรา เรามีสิ่งที่เรียกว่า “อคติทางความคิด (Cognitive Bias)” นั่นเอง เช่น เรามักมีความเชื่อว่า “อะไรที่เคยทำแล้วได้ผลจะได้ผลตลอดไป (Analogical Reasoning)”

นอกจากนี้ยังมีอคติเหล่านี้ที่เราควรระวัง

การคิดแบบสองขั้ว (Binary Thinking)

การคิดแบบถ้าไม่ขาวก็ดำ ถ้าไม่ดีก็เลว ถ้าไม่ถูกก็ผิด เช่นนี้จะทำให้ความคิดเราแคบลง

อคติยืนยันตนเอง (Confirmation Bias)

การรับฟังเฉพาะสิ่งที่ตนเองเห็นด้วยอยู่แล้ว และปิดกั้นความเห็นที่ต่างออกไป หลายครั้งเราตัดสินใจแล้วละว่าจะทำแบบนี้ แล้วหาหลักฐานมาเพื่อสนับสนุนความคิดของเรา ซึ่งจริงๆควรจะทำกลับกันใช่ไหมครับ เราควรหาหลักฐานก่อนค่อยตัดสินใจ

กับดักผู้เชี่ยวชาญ (Expertise Trap)

จริงอยู่ว่าคนที่เชี่ยวชาญกว่าและมีประสบการณ์มากกว่ามักแก้ปัญหาได้เร็วกว่า แต่กลับพบว่ายิ่งคนเราเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมากเท่าไร ยิ่งมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะยึดติดในความเชื่อแบบเดียวมากเท่านั้น

“ถ้าเรามีเครื่องมือเดียวในการแก้ปัญหาคือค้อน เราจะมองเห็นทุกอย่างเป็นตะปูหมด”

– อับราฮัม มาสโลว์

การด่วนตัดสิน (Jump to Conclusions)

ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง และให้คุณค่ากับ Productivity ถือเป็นอันตรายต่อการแก้ปัญหามาก เพราะเราจะเชื่อว่าต้องตอบสนองเร็ว คิดแล้วต้องลงมือทำทันที จึงทำให้ไม่มีเวลาทำความเข้าใจปัญหาที่จะแก้ด้วยซ้ำ ใช่ครับความเร็วในการแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องแน่ใจด้วยว่าเราเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงหรือยัง

เพิ่มทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยหลักการ 4S

ในหนังสือ Cracked it! How to solve big problems and sell solutions like top strategy consultants แนะนำ 4 ขั้นตอนในการแก้ปัญหาซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพไว้ดังนี้

  • State – กำหนดปัญหา

แค่นิยามและกำหนดขอบเขตของปัญหาไว้อย่างดี ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

“หากเขามีเวลาหนึ่งชั่วโมงในการแก้ปัญหา เขาจะใช้เวลา 55 นาทีในการคิดวิเคราะห์โจทย์หรือปัญหานั้น และใช้เวลาอีก 5 นาทีในการหาทางออก”

  • อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์   –

นอกจากจะถามตัวเองว่าปัญหาคืออะไร เรายังต้องถามตัวเองต่อว่า เรารู้อะไรเกี่ยวกับปัญหานี้บ้าง และมีอะไรที่เราไม่รู้บ้าง ข้อมูลเหล่านี้สามารถรวบรวมด้วยวิธีเก็บข้อมูลทั่วๆไป เช่น การสังเกต การพูดคุย หรือทำแบบสำรวจ แต่ถ้ายังมีข้อมูลไม่พอ เราสามารถนำความรู้ด้าน Design Thinking มาใช้ นั่นก็คือการสวมร่างเป็นผู้ใช้งาน (Empathizing with users) โดยเริ่มจากการสังเกต เข้าไปมีส่วนร่วม และสมมติว่าเราเป็นผู้ใช้งานเอง แล้วดูว่าประสบการณ์ที่ได้รับนั้น กำลังจะบอกอะไรเราบ้าง

  • Structure – ทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาและวางแนวทางแก้ไข

โดยส่วนใหญ่หลายคนเมื่อได้กำหนดปัญหาแล้ว มักข้ามไปหาวิธีแก้ทันที ซึ่งอาจจะนำมาสู่ความล้มเหลว เราควรระดมความคิดตามหาไอเดียที่จะเป็นทางออกเสียก่อน เช่น การใช้แผนภาพต้นไม้ เพื่อแตกสาเหตุของปัญหาไปเรื่อยๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

  • Solve – ลงมือแก้ไขปัญหา

ในขั้นตอนนี้เราก็สามารถเริ่มทดสอบได้เลยว่าไอเดียหรือสมมติฐานที่มีนั้นจริงไหม เช่น การสร้างแบบจำลอง (Prototype) ขึ้นมา และเริ่มเข้าสู่กระบวนการทดสอบ (Test) ได้เลย

  • Sell – ขายไอเดียให้สำเร็จ

สุดท้ายเราจะขายวิธีแก้ปัญหาของเราอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) สนใจและอนุมัติ ในขั้นตอนนี้ทักษะการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องโฟกัสที่การโน้มน้าวว่าวิธีที่เราจะนำเสนอนี้แหละจะแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ได้ เพราะถ้าขายไอเดียไม่สำเร็จ สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดก็อาจสูญเปล่า

5. การยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)

หากเราขับรถไปเข้าประชุมที่ Office ในตอนเช้าแล้วเจอถนนที่ปิดปรับปรุง เราก็สามารถหาเส้นทางอื่นไปแทน หรือเราอาจแก้ปัญหาด้วยการจอดรถแล้วประชุมออนไลน์แทน การยืดหยุ่นทางความคิดก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลง จัดลำดับความสำคัญ และสามารถจัดการหลายเรื่องไปพร้อมๆกัน

ดังนั้นการยืดหยุ่นทางความคิด จึงหมายถึง ความสามารถของสมองในการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ ความเปลี่ยนแปลงหรืเหตุการณ์ไม่คาดคิด และความสามารถในการมองจากมุมที่แตกต่าง พิจารณาจากหลายมุมไปพร้อมๆกัน หรือสามารถสลับสับเปลี่ยนระหว่างแนวคิดต่างๆได้

การยืดหยุ่นทางความคิดเป็นประโยชน์อย่างมากในโลกการทำงานซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่ความสำคัญของงานแต่ละชิ้นก็ไม่ได้ลดลง และยังมีเดดไลน์ในการจำกัดเวลาเช่นเดิม แต่ความยืดหยุ่นของสมองแต่ละคนไม่เท่ากัน จากการศึกษาพบว่าคนที่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย มีแนวโน้มจะมีความยืดหยุ่นและพร้อมต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ปรับตัวมากกว่า และจากการศึกษาของ World Economic Forum พบว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจหลายอย่างมีความคิดที่ยืดหยุ่นมากกว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดียว ทั้งๆที่มีอายุและไอคิวเท่าๆกัน

ความยืดหยุ่นนี้ยังช่วยให้เราคิดแบบช้า (ที่เรียกว่า Slow Thinking หรือ Cold Cognition) พิจารณาเหตุผลอย่างตั้งใจโดยปราศจากอารมณ์ อีกทั้งยังช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอคติทางความคิดต่างๆ

วิธีเพิ่มพลังความยืดหยุ่นให้สมอง
  • เริ่มออกจากคอมฟอร์ตโซนทีละนิด

การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อนอาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ชอบ เพราะทั้งน่ากลัว น่าอึดอัด และเต็มไปด้วยความล้มเหลวซ้ำๆ ขอบอกว่าเป็นเรื่องปกติครับ ไม่มีใครเชี่ยวชาญทักษะใหม่ๆตั้งแต่ครั้งแรกที่ลองหรอก

  • ฝึกเอาใจคนอื่นมาใส่ใจเรา (Empathy)

การพยายามเข้าใจประสบการณ์ ความรู้สึก และความคิดของคนอื่นๆผ่านการลองคิดว่า “ถ้าเราเป็นเขาจะทำอย่างไร” ช่วยให้เราได้มุมมองใหม่ๆอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน การสร้าง Empathy ในองค์กรที่ทำง่ายมาก โดยเฉพาะสำหรับแผนกที่มีปัญหากัน คือ ลองสลับคนที่มีปัญหาเยอะไปให้ทำหน้าที่อีกแผนกหนึ่ง ส่วนใหญ่เมื่อทำแบบนี้คนที่มีปัญหาจะเกิด Empathy โดยอัตโนมัติ

  • ท้าทายความเชื่อของตัวเอง

หลายครั้งที่เราติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ และคิดทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้สักที เป็นเพราะเราไม่ค่อยเปิดรับไอเดียอื่นๆ และเชื่อเฉพาะสิ่งที่เคยเชื่อ วิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้คือการตั้งคำถามเยอะๆเพื่อท้าทายความเชื่อของตัวเอง เช่น ไอเดียของเรานั้นจริงหรือเปล่า ความเชื่อของเราถูกต้องไหม มีอย่างอื่นอีกไหมที่เป็นจริง เป็นต้น

  • หยุดความคิดลบ และความกังวล

บ่อยครั้งที่ความเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับความรู้สึกท่วมท้น และวิตกกังวลจนคิดอะไรไม่ออก หรืออาจถึงขั้นทำให้เราคิดลบกับตัวเอง เช่น เราจะทำได้เหรอ เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือหยุดตัวเอง ตระหนักให้ได้ก่อนว่าเรากำลังคิดแบบนี้อยู่ จากนั้นก็หันเหความสนใจไปทางอื่นแทน ซึ่งเราอาจใช้การทำ Box Breathing เข้าช่วยได้ คือ หายใจเข้า 4 วินาที ค้างไว้ 4 วินาที และหายใจออกอีก 4 วินาที วิธีนี้จะช่วยยับยั้งการคิดลบ และคลายความกังวล รวมถึงความกลัวและความโกรธได้ดีทีเดียว

อ่านบทความตอนต่อไป

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 2/4)

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 3/4)

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี Wow! (ตอนที่ 4/4)

“นายเรียนรู้”

บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ

ติดตามอ่านบทความของ “นายเรียนรู้” เพิ่มเติมได้ที่ www,nairienroo.com

ติดต่องานฝึกอบรม และที่ปรึกษาได้ที่ Line : @Lert และที่ www.alertlearning.co.th

Related Posts