fbpx

ในทัศนะอาจารย์ป๋วย

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ทางองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่อง “ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

puey

อาจารย์ป๋วย เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้ความสามารถ ความรักสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม และความมีสัจจะ ซึ่งเห็นได้จากหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กระแสสังคมในช่วงเวลานั้นมีความนิยมในตัวอาจารย์ป๋วยเป็นอย่างมาก จนได้รับการคาดหมายเป็นตัวเต็งในระดับต้น ๆ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ท่านกลับปฏิเสธโอกาสดังกล่าว เพราะได้ให้สัจจะไว้แล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตราบใดที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกัน เมื่อครั้งที่ท่านปฏิเสธไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่อาจารย์ป๋วย ต้องถูกมรสุมทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เล่นงาน ทำให้ท่านต้องจากบ้านเมืองประเทศไทยที่ท่านรักไป บ้านเมืองซึ่งครั้งหนึ่งท่านได้เคยต่อสู้ในนามเสรีไทยเพื่ออิสรภาพของประเทศในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจกรณีอาจารย์ป๋วย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “คำให้การของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”)

สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว ก็ได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์ป๋วย ผ่านหนังสือที่รวบรวมบทความ และปาฐกถาของอาจารย์ในวาระต่าง ๆ ซึ่งทางมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้นำมารวบรวมไว้ดังนี้

  1. ทัศนะว่าด้วยการศึกษา
  2. ทัศนะว่าด้วยการเมืองและจริยธรรม
  3. ทัศนะว่าด้วยเศรษฐกิจ
  4. ประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว

ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้อ่าน ก็ปรากฏหลากหลายข้อความที่ยังคงมีความทันสมัย มีสติเตือนใจตัวเรา และสังคมไทยเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น

“จุดมุ่งหมายของการศึกษาย่อมเพ็งเล็งไปในด้านบุคคล คือ ตัวของนักเรียนเอง เพราะเชื่อมั่นว่ามนุษย์แต่ละคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีอยู่ในตนเอง ไม่ว่าจะเกิดมาจากตระกูลใดหรือจากสถานที่ใด จากสิ่งแวดล้อมต่ำหรือสูง มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีอยู่ในตนเอง ผมใคร่เน้นว่า การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน”

“พวกเราที่ได้มีวาสนาสูงกว่าเพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย คือ ได้เรียนชั้นอุดมศึกษา และได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีมีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ย่อมมีความรับผิดชอบในชะตากรรมของชาติและสังคมไทยมากกว่าตาสีตาสาหรือใคร ๆ ในประเทศเรา…

…ปัญหามีอยู่ว่าเราจะถือเป็นธุระหรือว่าธุระไม่ใช่ ? เราจะใจเด็ดหรือจะใจเย็นเอาตัวรอดแสวงสุขสบายตามยถากรรม ?”

“…อุปสรรคสำคัญของหลักประชาธิปไตย ก็คือ ความโลภอย่างหนึ่งกับความทระนงนึกว่าตนวิเศษอีกอย่างหนึ่ง เลยทำให้เพิกเฉยต่อและทำลายซึ่งสิทธิ และศักดิ์ของผู้อื่น เป็นการเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้โอกาสที่ชาติบ้านเมืองจะเจริญพัฒนาได้โดยสมบูรณ์…”

และในหนังสือทัศนะว่าด้วยการเมือง และจริยธรรม ยังมีจดหมายเปิดผนึกที่ชื่อว่า “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ซึ่งเป็นจดหมายที่ “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เป็นรหัสเรียกของ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เมื่อครั้งเป็นเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนถึงนายทำนุ เกียรติก้อง หรือจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2515

หลากหลายข้อความที่นายเข้ม เย็นยิ่ง ได้เขียนในจดหมายฉบับนี้ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไทยเจริญ แสวงหาอยู่ในปัจจุบัน เช่น

“…ข้อสำคัญที่สุดก็คือการกำจัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย…”

ในปี 2559 ที่จะครบรอบ 100 ปี ชาตกาล “ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  ได้จัดพิมพ์ปฏิทินตั้งโต๊ะ “100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : สิ่งที่ผมปราถนา” มาวางจำหน่ายที่ร้าน House of Commons – Café&Space และทางร้านยังได้นำหนังสือของอาจารย์ป๋วย จากสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง มาวางจำหน้ายด้วยเช่นกัน โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่  082 983 8099 หรือ 081 711 3466 (คุณเพชร)

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts