fbpx

คำถาม สำคัญกว่า คำตอบ

คำถาม สำคัญกว่า คำตอบ

แท้จริงแล้วในโลกการศึกษาของมนุษย์เราในปัจจุบันตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับปริญญานั้น เราถูกสอนให้หาแต่ คำตอบ เราถูกสอนให้ว่าต้องเรียนรู้อะไร เราถูกสอนให้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่น้อยมากที่จะมีใครจะชี้แนะเราว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น”

เด็กโดยธรรมชาติแล้ว เกิดมาพร้อมกับความกระหายใคร่รู้อยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เมื่อพบเห็นอะไรใหม่ ๆ ก็จะตั้งคำถามว่าทำไม ทำไม จนเรียกได้ว่าเป็น “เจ้าหนูจำไม” ประจำบ้านกันเลยทีเดียว

แต่เพราะผู้ใหญ่นี่แหละครับ ที่ทำให้สัญชาตญาณที่มีอยู่ล้นเปี่ยมของเด็กน้อยนั้นค่อย ๆ เลือนหายไป ด้วยการปฏิเสธคำถามที่เด็กถามอย่างไม่มีเยื่อใย ด้วยความรำคาญ หรือด้วยความที่ว่าตัวเราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ด้วยคำตอบที่ว่า

“ก็เขาบอกกันมากันอย่างนี้แหละ จำ ๆ มันไปเถอะ”

“เขาเชื่อกันมาอย่างนี้มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว”

“ว่างนักหรือไง ถามอะไรไร้สาระ”

ด้วยคำตอบลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้ “เจ้าหนูจำไม” ค่อย ๆ แปลงร่างเป็น “เจ้าหนูจำไป”

สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตไปพร้อม ๆ กับความกระหายใคร่รู้นั้น ก็คือ การที่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เรารู้ไปหมดทุกเรื่อง ยังมีอีกมากมายที่เราเองก็ยังไม่รู้

ประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของผู้เขียนเอง เกิดขึ้นตอนที่ไปทำหน้าที่เป็น Facilitator ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย มีอยู่วันหนึ่งเด็กน้อยที่ชื่อ “น้องฤทธิ์” ก็วิ่งเข้ามาหาผม แล้วก็ถามว่า

น้องฤทธิ์ – “คุณครูพี่บุญเลิศครับ คือ ฤทธิ์สงสัยครับว่าทำไมคำว่า Badminton ถึงเขียนเป็นภาษาไทยว่า แบดมินตัน ทำไมไม่เขียนว่า แบดมินตั้น ละครับ ?”

คุณครูพี่บุญเลิศ – “……” (กำลังคิดอยู่ เออจริงแฮะ เราเองก็ไม่เคยสงสัยอะไรแบบนี้เหมือนกัน)

น้องฤทธิ์ – “และเวลาอ่าน เราควรจะอ่านว่า แบด-มิน-ตัน หรือว่า แบด-มิน-ตั้น ครับ”

คุณครูพี่บุญเลิศ – “เออ…น้องฤทธิ์ ครูเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวเรามาช่วยกันหาดีกว่าว่าทำไมถึงเขียนอย่างนั้น แล้วที่ถูกแล้วเราควรอ่านออกเสียงว่าอย่างไร”

สุดท้ายแล้วหลังจากที่ผู้เขียนได้ไปสอบถามคุณครูสอนภาษาไทยสมัยตอนเรียนมัธยมศึกษาที่วัดสุทธิวราราม ก็ได้คำตอบว่า “คำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษนั้น เวลาเขียนเป็นภาษาไทยนั้น ไม่ต้องใส่รูปวรรณยุกต์ แต่เวลาออกเสียงให้ออกเสียงตามเสียงในภาษาอังกฤษ เว้นแต่ว่าหากคำ ๆ นั้นเขียนเป็นภาษาไทยแล้วอาจตีความหมายได้ผิดเพี้ยนไป เช่น คำว่า Coma หากเขียนให้ถูกหลักต้องเขียนว่า “โคมา” ซึ่งก็จะทำให้ตีความผิดได้ ดังนั้นก็จะเขียนเป็น “โคม่า” ให้พ้องเสียงกับคำในภาษาอังกฤษแทน

สนใจศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง “หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ” สามารถเข้าไป download ได้ที่

http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/2371_6847.pdf

จะเห็นได้ว่าคำถามที่ดีนั้นนำไปสู่การเรียนรู้ที่มากมาย สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ แท้จริงแล้ว คือ คำถามมิใช่คำตอบ หมายความความการตั้ง คำถาม สำคัญกว่า คำตอบ

“Millions saw the apple fall, but Newton asked why”

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts