fbpx

The Lemon Tree

บนเส้นทางการเรียนรู้ มีหลากหลายเส้นทางในการเรียนรู้ เพื่อทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ที่เราสามารถหาความรู้ได้มากมายทั้งบนโลกออนไลน์ผ่านทาง Google, YouTube ฯลฯ หรือบนโลกที่จับต้องตัวสื่อได้ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน, นิตยสาร, หนังสือต่าง ๆ

lemonCV-forweb

“The Lemon Tree” ผลงานของ “SANDY TOLAN” ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย “ไพรัช แสนสวัสดิ์” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Way of Book

ครั้งแรกที่ผู้เขียนเห็นหนังสือเล่มนี้ ถูกคัดสรรเข้ามาวางจำหน่ายในร้าน ก็นึกว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนทั่ว ๆ ไป ผู้เขียนเองก็ยังไม่ได้สนใจอะไรมากมาย จนเมื่อน้องในร้านหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน และเริ่มติดพันอย่างจริงจังกับหนังสือที่มีความหนากว่า 500 หน้า ซึ่งหากไม่ได้เป็นหนอนหนังสือแล้วละก็ แสดงว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นผู้เขียนเริ่มหันมาสนใจหนังสือเล่มนี้มากขึ้น ที่สันปกมีวลีสั้น ๆ เขียนไว้ว่า

“AN ARAB, A JEW AND THE HEART OF THE MIDDLE EAST”

และบนหน้าปกมีคำโปรยภาษาไทยเป็นวลีสั้น ๆ ว่า

“ความสัมพันธ์อันงดงามท่ามกลางความขัดแย้ง”

นอกจากนั้นแล้วในคำนิยมที่ถูกพิมพ์ด้านปกหลังมีถ้อยคำที่พูดถึง สองชนชาติ คือ อิสราเอล และปาเลสไตน์ อยู่มากมาย ทำให้มโนทัศน์ในหัวผู้เขียนต่อหนังสือ “The Lemon Tree” เริ่มเปลี่ยนไป มันไม่ใช่หนังสือวรรณกรรมเยาวชนแน่ ๆ แต่มันคือ หนังสืออะไรกันแน่ ? เกี่ยวข้องอะไรกับอิสราเอล และปาเลสไตน์ เพราะความรู้ที่มีอยู่เดิมของผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวของอิสราเอล และปาเลสไตน์ผ่านทางข่าวต่างประเทศเท่านั้น และส่วนใหญ่ข่าวที่ปรากฏออกมาก็จะเป็นการทำสงครามระหว่างกันในดินแดนตะวันออกกลาง ที่คุ้น ๆ ผ่านหูอยู่บ่อย ๆ ก็คือ บริเวณฉนวนกาซ่า และ เขตเวสต์แบงค์

ภาพของอิสราเอลในสายตาผู้เขียน ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ภาพของชาวยิว ชนชาติที่ถูกกวาดล้างฆ่าเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากกองทัพนาซีของเยอรมัน จนต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนตะวันออกกลาง ก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่ก็ต้องถูกเหล่าประเทศอาหรับรุมขับไล่ จนต้องก่อสงครามกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพของปาเลสไตน์ในสายตาของผู้เขียน ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ชนชาติที่นิยมใช้ความรุนแรง

แต่พลันที่ผู้เขียนเริ่มหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ประมาณครึ่งเล่ม ความเข้าใจในเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ก็ถูกขยายมุมมองการรับรู้จากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

“SANDY TOLAN” ผู้เขียนหนังสือ “The Lemon Tree” ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ของสองชนชาติ ด้วยเรื่องเล่าอันทรงพลัง ผ่านเรื่องราวของ “บาเซียร์ ไครี” หนุ่มปาเลสติเนียนลูกชายเจ้าของบ้านที่มีต้นมะนาว ที่ครอบครัวของเขาจำต้องทิ้งบ้านที่รักไปเพราะโดนทหารยิวขับไล่ ตั้งแต่เขาอายุยังน้อย กับ “ดาเลีย เอชเคนนาซี แลนเดา” หญิงสาวชาวอิสราเอลในครอบครัวยิวบัลแกเรียน ผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และได้เข้ามาครอบครองบ้านที่มีต้นมะนาวหลังดังกล่าว

เรื่องราวในหนังสือเป็นผลงานการค้นคว้าวิจัยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย ของ “SANDY TOLAN” ที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือได้รับรู้ข้อเท็จจริงในด้านประวัติศาสตร์ช่วงก่อนกำเนิดประเทศอิสราเอล ในปี 1948 และช่วงหลังปี 1948 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เข้าใจปมขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ที่มีมากว่า 70 ปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นจากการอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ จากหนังสือ “The Lemon Tree” ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะไปหาความรู้เพิ่มเติมผ่านทาง YouTube ก็ไปเจอ Clip VDO ที่อธิบายเรื่องราวสั้น ๆ ระหว่างความขัดแย้งของอิสราเอล และปาเลสไตน์ ไว้อย่างน่าสนใจ ตาม Link นี้

https://www.youtube.com/watch?v=qkknoqyV5EU (Israeli–Palestinian conflict story ปาเลสไตน์ อิสราเอล อย่างสั้นๆ)

ความน่าสนใจของ “The Lemon Tree” คือ การเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่มิติความแตกต่างเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันของผู้คน รวมไปถึงการแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจชาติตะวันตกบนดินแดนตะวันออกกลาง

แต่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ได้รับการเรียนรู้เพียงมิติเดียวในห้องเรียน จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเด็นการเรียนรู้ถูกขยายเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้เราเกิดความเข้าใจความขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหากรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจหนังสือ “The Lemon Tree” สามารถแวะมาซื้อได้ที่ร้าน House of Commons – Café&Space ถ.เจริญนคร (ระหว่างซอย 20 กับ 22) ตรงข้ามปั๊ม Shell

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts