“ซาเทียร์” เป็นหลักสูตรยอดนิยมหลักสูตรหนึ่งของ “เสมสิกขาลัย” ที่จะมาใช้สถานที่เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา ในการจัดเป็นประจำทุกปี แม้ว่าร้าน House of Commons – Cafe&Space ของผมกับหุ้นส่วนจะตั้งอยู่หน้าทางเข้าสวนเงินมีมา แต่ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้เข้าอบรมซักที จนกระทั่งเมื่อสุดสัปดาห์ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นผมรู้จัก “ซาเทียร์” เพียงแค่ผิวเผิน รู้ว่ามันเกี่ยวข้องในการพัฒนาจิตใจอะไรบางอย่างจากการทำความเข้าใจกระบวนการภายในของตนเองก็เท่านั้น ผมไม่เคยมีความรู้สึกอยากที่จะเข้าอบรม หรือบางครั้งชักเริ่มอยากแต่ดูแล้วสภาพจิตใจตนเองยังไม่พร้อม
จนกระทั่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ผมเริ่มมีความสนใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ทำความรู้จักกับ “ซาเทียร์” ผมรีบทำการจองล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือนก่อนถึงวันอบรมจริง เพราะต้องบอกว่าหลักสูตร “ซาเทียร์” เป็นหลักสูตรที่เต็มเร็วจริง ๆ
สามวันแห่งการเรียนรู้เข้าไปข้างในกลไกการทำงานของจิตใจตนเอง ผ่านโมเดลภูเขาน้ำแข็ง
ทำให้เรียนรู้ภายในมากขึ้นโดยเฉพาะชั้นใต้ความรู้สึกลงไปในชั้นของความคิดที่เกี่ยวข้องกับมุมมองทัศนคติ (Perceptions) ในชั้นของความคาดหวัง (Expectations) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ทำให้เราโหยหา Yerning หรือที่อาจารย์หมอนงพงาท่านเรียกว่า “อาหารใจ”
ที่ผ่านมาที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์อยู่ในช่วง “ภาวะซึมเศร้า” นั้นส่วนหนึ่งหากวิเคราะห์ทบทวนย้อนกลับไปก็เพราะช่วงนั้นเราโหยหา “อาหารใจ” จากผู้อื่น เราไม่เคยที่จะเรียนรู้ในการให้ “อาหารใจ” กับตัวเอง
ในทางการแพทย์นั้นคนที่อยู่ใน “ภาวะซึมเศร้า” มีปัจจัยกระตุ้นจาก 3 ด้าน
- ทางด้านร่างกาย เนื่องจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งสามารถช่วยกินยาช่วยได้ส่วนหนึ่ง
- ทางด้านสังคมสภาพแวดล้อม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในส่วนนี้โดยส่วนตัวก็เคยใช้ในการขอย้ายตำแหน่งงาน ลาออกเปลี่ยนงานใหม่ ก็ดีได้อยู่แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น
- ทางด้านจิตใจ เพิ่งได้มาเรียนรู้และเข้าใจจริง ๆ ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เป็นอย่างไร เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะให้ “อาหารใจ” แก่ตัวเราเองเลย หวังพึ่ง “อาหารใจ” จากผู้อื่นตลอดเวลา
การเรียนรู้ตลอดทั้ง 3 วัน กิจกรรมง่าย ๆ ที่ให้รู้จักชื่นชมตนเอง กิจกรรมที่สะท้อนให้เราเห็นท่าทีในการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมวิเคราะห์แผนที่ครอบครัว (Family Map) ทำให้เราค่อย ๆ ลงไปสืบค้นภายในตัวเราเองตั้งแต่เยาว์วัย สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ในครอบครัว เส้นทางชีวิตในรั้วการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญา ตลอดจนชีวิตในวัยทำงานนั้น เราใช้ชีวิตเช่นไร เราใช้กลไกใดในการเผชิญกับปัญหา เรามีความคิดมุมมองทัศนคติเช่นไร เราคาดหวังอะไรจากคนอื่น คนอื่นคาดหวังอะไรจากเรา และเราโหยหา “อาหารใจ” ในหมวดหมู่ใด
การได้เรียนรู้ “ซาเทียร์” ทำให้ผมได้รู้จักและทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นในภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ภาวะซึมเศร้า” หรือ “ภาวะโมโหสุดขีด” เรียนรู้ที่จะเยียวยาตัวเองด้านจิตใจได้มากขึ้น
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com