บุรุษนามว่า OSHO
“OSHO” นักปรัชญาร่วมสมัยชาวอินเดีย แม้บุรุษผู้นี้จะล่วงลับไปแล้ว แต่คำบรรยายของ “OSHO” ต่อสานุศิษย์ทั้งหลาย ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทันสมัย และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย จนได้มีการถอดเทปการบรรยายของท่านออกเป็นหนังสือซีรีย์ต่าง ๆ จำนวนมากมาย และได้รับการแปลและเผยแพร่ในหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย โดยส่วนใหญ่หนังสือภาษาไทยของ “OSHO” จะถูกจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Freemind ได้แก่ ปัญญาญาณ, อิสรภาพ, วุฒิภาวะ, เชาว์ปัญญา, สปาอารมณ์, ดีไซน์รัก, คำทองคำ, พลิกมุมใหม่ เข้าใจชีวิต, เด็ดเดี่ยว, สนิทใจ, เมตตาอาทร, เบิกบานยินดี, พลังสร้างสรรค์, เต๋า และ เซน
“OSHO” ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอน ว่าเป็นหนึ่งใน “1,000 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20” และได้รับการขนานนามโดย Tom Robbins นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ว่าเป็น “บุรุษสุดอันตรายหลังจากการมาของพระเยซู”
คำบรรยายของ “OSHO” ครอบคลุมเรื่องที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในเรื่องการแสวงหาความหมายในชีวิต เรื่องของความรัก เรื่องประเด็นทางการเมือง และสังคมต่าง ๆ โดยใช้คำ หรือเรื่องราวที่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย กระแทกโดนใจ ทำให้รู้สึกเหมือนโดนเคาะหัวให้ตื่นรู้อยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่างการอ่าน
“OSHO” พูดว่า “ความรักคือการให้” แต่ต้องเป็นการให้ที่มาจากใจ เป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่การให้อย่างที่พวกเราใช้กันทั่วไป ที่มักจะแฝงไปด้วยการเจรจาต่อรอง…ลูกต้องทำตัวเป็นเด็กดีนะ ไม่เช่นนั้นแม่ก็จะไม่รัก…
“OSHO” บอกว่า “ความรักต้องมาพร้อมอิสรภาพ” ความรักนั้นให้อิสรภาพแก่ท่านหรือไม่? เพราะรักแท้ต้องให้อิสรภาพแก่ท่าน ทำให้ท่านเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร ผู้ใดที่ยังไม่มีรักแท้ ความรักของเขาจะเต็มไปด้วยความหึงหวง เต็มไปด้วยความกลัว และเต็มไปด้วยการต่อสู้ เพราะต่างคนต่างก็ต้องการจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง…
หลายต่อหลายครั้ง “OSHO” มักใช้เรื่องเล่า ในการอธิบายคำสอนของเขา ตัวอย่างเช่น
ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นโสด ตลอดทั้งชีวิตของเขา เขาได้แต่ค้นหาผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ เมื่อเขาอายุเจ็ดสิบปี มีคนถามเขาว่า “ท่านได้ท่องเที่ยวไปทั่ว จากนิวยอร์กไปกาฐมานฑุ จากกาฐมานฑุไปโรม จากโรมไปลอนดอน ท่านได้แต่ค้นหา ท่านไม่พบผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบแม้แต่คนเดียวเลยหรือ?”
ด้วยน้ำเสียงที่เศร้าสร้อย ชายชราพูดว่า “ข้าเคยได้พบครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ข้าได้พบกับผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่ง”
ผู้ที่ตั้งคำถามถามต่อว่า “แล้วเกิดอะไรขึ้นล่ะ? ทำไมท่านถึงไม่แต่งงานกับหล่อน?”
ชายชราพูดอย่างน่าสารว่า “จะทำอะไรได้ล่ะ? หล่อนเองก็กำลังมองหาชายที่สมบูรณ์แบบอยู่เช่นกัน”
นั้นคือมุมมองของ “OSHO” ที่มีต่อความรัก
นอกจากนี้แล้ว “OSHO” ยังมีมุมมองต่อเรื่องการเมืองที่น่าสนใจ เช่น
การปฏิวัตินั้นประกอบด้วยสองส่วนเช่นกัน คือ ปฏิวัติ “จาก” อะไร และ “เพื่อ” อะไร ผู้ที่ทำการปฏิวัติควรจะแบ่งเป็นสองพวกด้วยเช่นกัน พวกหนึ่งทำงานส่วนแรกคือเรื่องอิสรภาพ “จาก” อะไร ส่วนอีกพวกหนึ่งจะเริ่มงานเมื่องานของส่วนแรกจบลงคือเรื่องอิสรภาพ “เพื่อ” อะไร แต่เรื่องที่ยากก็คือเรื่องการจัดการ ใครล่ะจะสามารถจัดการมันได้ ในเมื่อทุก ๆ คนต่างก็เต็มไปด้วยความอยากได้อำนาจ เมื่อผู้ปฏิวัติได้รับชัยชนะ อำนาจเป็นของพวกเขา พวกเขาจะไม่ยอมให้อำนาจกับผู้อื่น และประเทศก็ตกอยู่ในความโกลาหลและนับวันก็มีแต่จะทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
เราไม่ควรให้อำนาจกับนักปฏิวัติ เพราะว่าพวกเขาถนัดแต่เรื่องการก่อวินาศกรรมหรือการทำลายล้าง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะสร้างหรือพัฒนาต่อไปได้อย่างไร พวกเขารู้จักแต่ว่าจะทำลายอย่างไร พวกเขาสมควรที่จะถูกยกย่องให้เกียรติ เป็นที่นับถือ ให้แหรียญทองและให้ทุก ๆ อย่าง แต่เราต้องอย่าไปให้อำนาจแก่พวกเขา
และนี่คือเหตุผลที่การปฏิวัติทุก ๆ ที่บนโลกใบนี้ต้องประสบกับความล้มเหลว เหตุผลง่าย ๆ คือว่าคนที่ทำการปฏิวัตินั้นมีความชำนาญด้านเดียว คือ การโค่นล้ม ในขณะที่คนที่พัฒนาสร้างประเทศขึ้นมานั้นเป็นคนละกลุ่มกัน
ผู้อ่านที่สนใจหนังสือของ “OSHO” สามารถหาซื้อได้ที่ร้าน House of Commons – Café&Space ถ.เจริญนคร (ระหว่างซอยเจริญนคร 20 และ 22) ตรงข้ามปั๊ม Shell หรือร้านหนังสือทั่วไป
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com