fbpx

(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ​13/07/2557)

“Please listen carefully and try to hear what i am not saying” – Charles Finn

Listen

สุ-จิ-ปุ-ลิ ทักษะการฟัง คือ หนึ่งในทักษะที่เป็นหัวใจของนักปราชญ์ พอผู้เขียนได้เห็น Quote นี้แล้ว ยิ่งทำให้มาย้อนคิดอีกว่าแท้ที่จริงแล้ว คำว่า LISTEN ประกอบด้วยตัวภาษาอังกฤษ 6 ตัว ที่พอมาจัดเรียงใหม่จะได้เป็นคำว่า SILENT ที่แปลว่า ความเงียบ ใช่แล้วการที่เราจะสามารถฟังผู้อื่นได้ดีนั้น เราจะต้องเงียบเสียงตัวเราเอง ไม่พูดแทรก ขัดจังหวะ และคำว่า HEAR ที่แปลว่า รับรู้ได้ยิน นั้น ก็ออกเสียงพ้องกับกับคำว่า HERE ที่แปลว่า ที่นี่ ตรงนี้ แน่นอนอีกเช่นกัน การที่เราจะสามารถฟังผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้นนั้น เราจะต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคู่สนทนาของเรา ไม่ใช่ว่าสบตามอง แต่ใจเหม่อลอยไปที่อื่น

David Bohm (1897-1922) นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ ที่เคยร่วมงานกับ Albert Einstein ณ มหาวิทยาลัยพรินซตัน เป็นบุตรชายของผู้อพยพชาวยิว เป็นผู้คิดค้น และพัฒนาศาสตร์แห่งการฟังขึ้นมา เรียกว่า “Dialogue” ซึ่งมีที่มาจากภาษากรีกสองคำ คือ คำว่า “dia” ที่หมายถึง ทะลุผ่าน และคำว่า “logos” ที่หมายถึง ถ้อยคำ ซึ่งเมื่อแปลความหมายโดยรวมแล้ว คือ การทะลุผ่านของถ้อยคำ ซึ่งมิได้หมายความว่าจะจำกัดเพียงแค่การสนทนาสองคนเท่านั้น และต่อมาได้มีคนนิยามคำว่า “Dialogue” เป็นภาษาไทยว่า “สุนทรียสนทนา”

แนวคิดเรื่อง Dialogue (สุนทรียสนทนา) ถูกนำมาเผยแพร่สู่สังคมไทยโดยอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และได้มีการขยายศาสตร์นี้ออกไปในแวดวงจิตตปัญญา แวดวงกระบวนกร แวดวงนักเคลื่อนไหวทางสังคม

Dialogue (สุนทรียสนทนา) แตกต่างจาก Discussion (การโต้เถียง) อย่างไร คำว่า “Discussion” นั้นมีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า “Percussion” ที่แปลว่า เคาะหรือตี และคำว่า “Concussion” ที่แปลว่า การกระทบกระเทือนอย่างแรง ซึ่งสังเกตได้ว่าถ้อยคำเหล่านี้ล้วนมีความหมายว่า ทำให้แตกแยกออกจากกัน มุ่งเน้นไปที่การคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อจำแนกแยกแยะมุมมองความคิดต่าง ๆ ที่ทุกคนกำลังนำเสนอความคิดของตนเองในมุมที่ต่างกันไป ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในระดับความคิดเพียงแค่ระดับหนึ่งที่ว่า สุดท้ายจะมีเพียงความคิดเดียวที่ดีกว่าความคิดอื่น ๆ เท่านั้น

แต่ Dialogue (สุนทรียสนทนา) มุ่งไปสู่ความตระหนักรู้ที่ว่า ความคิดของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต หลายคนมักจะยึดติดกับความคิด ความเชื่อของตนเองที่ได้นำเสนอออกไป โดยไม่ยอมละทิ้งปล่อยวาง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมที่จะไม่สามารถเกิดกระบวนการสุนทรียสนทนาได้ แต่หากทุกคนสามารถละทิ้งปล่อยวางความคิดตนเองได้ ค่อย ๆ ช่วยกันคิดพิจารณาในประเด็นที่สนทนากัน ก็จะนำไปสู่ความคิดอีกระดับหนึ่งที่เรียกว่า Collective Wisdom (ปัญญาร่วม)

ลองเริ่มต้นนำ Dialogue (สุนทรียสนทนา) ไปใช้ตัวเองดูซิครับ ฟังแบบไม่ตัดสินความคิดผู้อื่น ไม่ยึดติดความคิดเราเอง ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นการ “เปิดพื้นที่แห่งการรับฟัง” ภายในตนเองได้อย่างดีเลยทีเดียว

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts