fbpx

"ช่องสาริกา โมเดล" หนึ่งในรูปแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

Screen Shot 2558-12-13 at 5.53.03 PM

“ช่องสาริกา โมเดล” นับเป็นแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเครือเบทาโกร ที่ได้นำแนวคิดในด้าน Productivity Management เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านใน ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดยล่าสุดได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Productivity World ของ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ฉบับที่ 119 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2558)

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์อย่างคุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ทำให้มองว่าการทำ CSR แบบเดิม ๆ ที่แจกทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้ส่งผลให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างใด

จึงตั้งโจทย์ที่คิดว่าจะสร้างกลไกการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร เพื่อให้เกิดผลที่แท้จริงต่อชุมชน และสามารถนำแนวคิดนี้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ช่องสาริกา โมเดล” ตามแผนภาพข้างล่างนี้

betagro4

ซึ่งผู้เขียนได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับเครือเบทาโกร ในฐานะที่ปรึกษาของโครงการด้าน CSR ทำงานร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และทำงานร่วมกับผู้นำชาวบ้านในชุมชน เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้ชาวบ้าน

  1. มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มผลผลิตในอาชีพหลัก (มันสำปะหลัง,ข้าวโพด,อ้อย,ข้าว)
  2. ลดค่าใช้จ่าย โดยนำแนวคิดปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ (ปลูกเอง กินเอง เหลือขาย รู้จักจดบัญชีรับจ่าย)

ซึ่งนับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนยินดีที่จะไปแลกเปลี่ยนแนวคิดนี้ให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่มีความสนใจ เชิญติดต่อได้ที่เบอร์โทร 086-7771833

ในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้ระบุถึงประเด็นที่บริษัทต่าง ๆ ควรเข้าไปมีส่วนรวมและพัฒนาชุมชน ไว้หลายประเด็นได้แก่

  1. การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community involvement)
  2. การศึกษาและวัฒนธรรม (Education and culture)
  3. การสร้างงานและการพัฒนาทักษะ (Employment creation and skills development)
  4. การพัฒนาและเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology development abd access)
  5. การสร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (Wealth and income creation)
  6. สุขภาพ (Health)
  7. การลงทุนด้านสังคม (Social investment)

โดยในรายละเอียด สามารถอ่านได้จากเนื้อหาด้านล่างนี้

การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and development)

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 1 : การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community involvement)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

1.จัดให้มีตัวแทนขององค์กร เข้าปรึกษาหารือกับชุมชน เพื่อดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาชุมชนร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กลุ่มผู้เลือกปฏิบัติ กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน และกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง

หมายเหตุ : กลุ่มคนชายขอบ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล ถูกทิ้งขวางแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก เช่น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย

2.รวบรวมข้อมูลจากชุมชนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ก่อนการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาร่วมกับชุมชน

3.สนับสนุนการจัดทำสาธารณสมบัติและพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม

4.สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครบริการชุมชน

5.จัดทำแผนงานการพัฒนาชุมชนที่มีการติดตาม และประเมินผล โดยแแผนงานนั้นควรเคารพต่อสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่น พร้อมกับการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 2 : การศึกษาและวัฒนธรรม (Education and culture)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา และเข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนทุกระดับในท้องถิ่น
  2. ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือกลุ่มผู้ถูกเลือกปฏิบัติ
  3. ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาในระบบ
  4. ส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น
  5. เผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับชุมชน
  6. ช่วยอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การดำเนินการขององค์กรส่งผลกระทบ
  7. ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเทคโนโลยีของชุมชน

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 3 : การสร้างงานและการพัฒนาทักษะ (Employment creation and skills development)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. วิเคราะห์ผลกระทบของการตัดสินใจในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานในชุมชน และดำเนินการลงทุนเพื่อบรรเทาความยากจนผ่านการสร้างงาน
  2. พิจารณาการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงสุด และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจระยะยาว
  3. พิจารณาผลกระทบทั้งภายในและภายนอกองค์กรจากการตัดสินใจในการจ้างผู้รับเหมาช่วง หรือจากหน่วยงานภายนอก
  4. พิจารณาผลประโยชน์ของการสร้างงาน โดยการจ้างเป็นลูกจ้างประจำแทนลูกจ้างชั่วคราว
  5. มีส่วนรวมในการวางแผน การฝึกงาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และรับรองการพัฒนาทักษะ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส
  6. ร่วมกับองค์กรอื่นในชุมชน ในการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานพัฒนาทักษะสำหรับชุมชนที่ขาดแคลน
  7. จ้างงานและสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเท่าที่จะทำได้
  8. ส่งเสริมทักษะของชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 4 : การพัฒนาและเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology development abd access)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรพัฒนาเทคโนโลยีของชุมชน โดย

  1. ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
  2. สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนต่ำที่สามารถทำซ้ำได้ง่าย และช่วยก่อให้เกิดรายได้ให้กับชุมชน
  3. สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีของชุมชนที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการปกป้องสิทธิของชุมชนเหล่านั้น
  4. ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ห้องปฏิบัติการวิจัย หรือองค์กรอื่น ๆ ในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับคู่ค้าท้องถิ่น และจ้างคนในท้องถิ่นเข้าทำงานดังกล่าว
  5. ยินยอมให้มีการถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์อย่างเหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการจัดการเทคโนโลยีนั้นได้ด้วยตนเอง

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 5 : การสร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (Wealth and income creation)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. พิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และการใช้ทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นจากการย้ายเข้า หรือย้ายออกจากชุมชน
  2. สนับสนุนการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชน
  3. พิจารณาให้สิทธิพิเศษและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถให้กับผู้ส่งมอบท้องถิ่น และให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
  4. พิจารณาช่วยให้การดำเนินงานขององค์กรอื่น เป็นไปตามกฎหมาย
  5. ร่วมดำเนินกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจกับองค์กรที่มีการพัฒนาน้อย ยากที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อองค์กรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยบรรเทาความยากจน กิจกรรมขององค์กรเหล่านี้มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผลว่า องค์กรเหล่านี้จะปรับตัวสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม
  6. สนับสนุนแผนงาน โครงการต่าง ๆ ในชุมชนที่ดำเนินการโดยกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอื่น ๆ ในการสร้างธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเท่าที่สามารถทำได้
  7. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดี
  8. ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการจัดหาขององค์กรได้ง่าย รวมทั้งสร้างศักยภาพและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ได้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์กร
  9. สนับสนุนองค์กรหรือบุคคลที่นำผลิตภัณฑ์และบริการที่จำเป็นมาสู่ชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดท้องถิ่นกับเขตเมือง และส่งเสริมสวัสดิการชุมชนและการจ้างงาน
  10. ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 6 : สุขภาพ (Health)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. หาวิธีลดหรือขจัดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ อันเกิดจากกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กร
  2. ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี โดยมีส่วนช่วยให้ชุมชนได้รับยาและฉีดวัคซีน การออกกำลังกาย และโภชนาการที่ดี การป้องกันโรค การคุมกำเนิด และให้การดูแลเรื่องโภชนาการของเด็ก
  3. สนับสนุน ส่งเสริมการให้ความรู้กับชุมชน เกี่ยวกับโรคอันตราย และภัยคุกคามต่อสุขภาพ และวิธีการป้องกัน ดังเช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไข้มาลาเรีย โรควัณโรค และโรคอ้วน
  4. สนับสนุนบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น ดังเช่น การจัดหาน้ำสะอาด รวมทั้งสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยให้กับชุมชน

ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 7 : การลงทุนด้านสังคม (Social investment)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. หลีกเลี่ยงหรือลดการดำเนินการที่ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพากิจกรรม การบริจาคจากองค์กร
  2. ประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชน และรายงานต่อชุมชน และคนในองค์กร รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุง
  3. พิจารณาร่วมมือกับองค์กรอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีการแลกเปลี่ยนในด้านความรู้ ทักษะ และทรัพยากร
  4. สนับสนุนแผนงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรือกลุ่มคนผู้ถูกเลือกปฏิบัติ และผู้มีรายได้น้อย

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts