fbpx

LEED : มาตรฐานอาคารเขียว…สิ่งที่นักสร้างอาคารต้องเข้าใจ (ตอนที่ 1)

วันศุกร์ที่ผ่านมามีโอกาสฟังบรรยายหัวข้อ “แนวทางการออกแบบและก่อสร้างอาคารเขียวตามมาตรฐาน LEED” โดย รศ.ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ ได้รับเชิญไปบรรยายที่บริษัท THAI NISHIMATSU CONTRUCTION ในฐานะที่ต้องคัดเลือกสรรหาวิทยากรให้ลูกค้าตามโจทย์และ Requirement หลายครั้งจึงมีโอกาสได้เจอวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิ มากด้วยประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในงานที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ครั้งนี้ก็เช่นกันโอกาสมาฟังเรื่องมาตรฐานงานก่อนสร้างอาคารเขียวมาตรฐาน LEED

ความน่าสนใจของมาตรฐาน LEED คือ เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตัวระบบการประเมินถูกออกแบบมาอย่างครอบคลุม เพื่อให้นำไปสู่การออกแบบและการก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืนเป็นอย่างดี เกณฑ์แต่ละเกณฑ์และหมวดหมู่การประเมินแต่ละหมวดรวมถึงการให้คะแนนล้วนแต่มีทิศทางไปเพื่อจูงใจให้ทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบก่อสร้างอาคารไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาคาร สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างให้ความใส่ใจต่อเกณฑ์การประเมินที่เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างรอบด้าน จนแอบคิดว่ามีความคล้ายกับวางระบบการทำงานในองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้เช่นกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาคารเขียวมาตรฐาน LEED ที่เราต้องทำความเข้าใจตรงกันก่อน คือ อาคารประหยัดพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับอาคารเขียว กล่าวคืออาคารที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ต้องประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้างและก่อสร้างเสร็จต้องไม่มีสิ่งรบกวนพื้นที่ด้านข้างหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เช่น การฉายไฟขึ้นสู่ตัวอาคาร ซึ่งจะทำให้แสงสว่างรบกวนสัตว์ที่หากินบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการออกแบบให้ผู้ใช้อาคารสามารถเห็นทิวทัศน์ภายนอกที่สบายตา เป็นต้น ซึ่งหากสามารถทำได้ ก็จะได้รับคะแนน

มาตรฐาน LEED เป็นเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวที่ถูกพัฒนาโดย USGBC (U.S. Green Building Council) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมีมาตรฐานอาคารเขียวอื่นๆ อีก เช่น ของในประเทศไทยคือ TREES  ของประเทศเยอรมันคือมาตรฐาน DGNB และมาตรฐาน GREEN MARK ของประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

กลับมาที่เป้าหมายของมาตรฐาน LEED ที่ให้ความสำคัญ คือ

  1. ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Reduce global climate change)
  2. สุขภาพของคน (Human Health)
  3. การใช้วัสดุรีไซเคิล (Material Recycles)
  4. สร้างเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
  5. สร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี (Community quality life)
  6. ปกป้องทรัพยากรน้ำ (Protect water resources)
  7. ส่งเสริมความหลากหลายทางระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ (Protect biodiversity and ecosystem services)

ขอเรียกเป้าหมายข้างต้นว่า 7 มิติของความยั่งยืน ซึ่งเป็นแกนหลักของหมวดการประเมินมาตรฐาน LEED ที่จะกล่าวต่อไป เกณฑ์การให้คะแนนทุกข้อจะส่งเสริมให้เกิดการนำไปปฏิบัติใน 7 มิติขั้นต้น โดยแยกเป็นเกณฑ์ “Prerequisite” คือไม่มีหรือไม่ปฏิบัติไม่ได้ เช่น พื้นที่ที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นพื้นดินอยู่แล้ว จะไปถมทะเลเพื่อก่อสร้างไม่ได้ ทำลายสิ่งแวดล้อม 100% และ “Credits” หมายถึง ถ้าทำได้จะได้คะแนนเพิ่มซึ่งจะมีการประเมิน 7 หมวด ได้แก่

1. Sustainable Sites,

2. Water Efficiency,

3. Energy and Atmosphere,

4. Material and Resources,

5. Indoor Environment Quality,

6. Innovation และ

7. Regional Priority

แต่ละหมวดจะมีคะแนนเต็มไม่เท่ากัน โดยคะแนนเต็มจะอยู่ที่ 110 คะแนน และเมื่อรวมคะแนนแล้วก็จะได้ระดับการรับรองแตกต่างกันไปดังนี้

คะแนนรวม 40 – 49 คะแนน ได้ระดับ Certified

50 – 59 คะแนน ได้ระดับ Silver

60 – 79 คะแนน ได้ระดับ Gold

80 คะแนนขึ้นไป  ได้ระดับ Platinum

ระยะห่างของระดับ Gold ไประดับ Platinum จะต่างจากระดับอื่น ๆ อยู่ที่ 20 คะแนน ในขณะที่ระดับอื่น ๆ จะต่างกันที่ 10 คะแนน อาคารที่จะได้ระดับ Platinum ต้องได้คะแนนสูงมากจริง ๆ ถ้าประเมินหมวดไหนได้คะแนนเต็มก็จะมีคะแนนพิเศษให้อีก ซึ่งในเกณฑ์การให้คะแนนของแต่ละหมวดจะมีการให้คะแนนที่ไม่เท่ากัน เช่น  คะแนนในหมวด Sustainable Sites จะมีคะแนนเต็มสูงถึง 26 คะแนน ตรงนี้จะทำให้อาคารที่ให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ที่มีคะแนนสูงย่อมมีโอกาสทำคะแนนรวมได้มาก โดยหมวดที่มีคะแนนเต็มสูงๆ จะสอดคล้องกับเป้าหมายของมาตรฐาน LEED ทั้ง 7 ข้อข้างต้น เช่น หมวด Energy and Atmosphere และ หมวด Sustainable Sites ที่ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการเลือกสถานที่สร้างตึกจะมีผลมากๆ ต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเลือกสร้างตึกในจุดที่เป็น Mass Transit หรืออยู่ใกล้ใจกลางเมืองที่ใกล้จุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชน เหมือนกับการส่งเสริมให้คนที่ใช้ตึกหันมาใช้ขนส่งสาธารณะกลายๆ ซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว

รู้จักการประเมินมาตรฐานอาคารเขียว (LEED) กันมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ เดี๋ยวเราจะมาต่อกันที่บทความหน้า ทำความรู้จัก! การประเมินมาตรฐานอาคารเขียว (LEED) ตอนที่ 2

ว่าการประเมินนี้มีหลักการให้คะแนนอย่างไร และจุดน่าสนใจของการประเมินนี้อยู่ที่ตรงไหน

#มาตรฐานอาคารสีเขียว #มาตรฐานLEED #อบรมLEED #LEEDTRAINING #LEEDV4

เรื่องโดย อาจารย์เพชร ทิพย์สุวรรณ ตั้งอมรสุขสันต์

เรียบเรียงโดย สุภาวดี เจ๊ะหมวก

สนใจอบรมเรื่อง “LEED-มาตรฐานอาคารเขียว”

ติดต่อได้ที่

A@LERT Learning and Consultant

081-7113466 เพชร

098-763-3150  มิลค์

Line : @lert

www.nairienroo.com

contact@nairienroo.com

Related Posts