fbpx
เต๋า - มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง OSHO

เต๋า – มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง

เต๋า – มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง

OSHO

เต๋า - OSHO

เส้นทางแห่งการแสวงหา

“…แน่นอนอิสรภาพนั้นเป็นสิ่งอันตราย มันทำให้ท่านรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ท่านอาจจะรู้สึกปลอดภัยกว่าถ้าได้เดินตามฝูงชน ฝูงชนจะช่วยปกป้องท่าน ท่านรู้สึกปลอดภัยเมื่อท่านทำตามฝูงชน เพราะว่าการปรากฎตัวของคนหมู่มากทำให้ท่านรู้สึกว่าท่านไม่ได้อยู่ตามลำพัง และท่านไม่หลงทางอย่างแน่นอน ความมั่นคงที่ว่านี้แท้จริงแล้วมันได้ทำให้ท่านหลงทางไปแล้ว เพราะความมั่นคงทำให้ท่านไม่ต้องคิดจะค้นหา เมื่อท่านไม่ค้นหา ท่านก็ไม่เคยคิดจะถามหา และความจริงก็เลยไม่มาปรากฏ เว้นเสียแต่ว่าท่านจะถามหา เว้นเสียแต่ว่าท่านจะถามหาด้วยตัวของท่านเอง หากท่านเอาแต่หยิบยืมความจริงของคนอื่นมาใช้ ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงความรู้ แต่การเป็นผู้ทรงความรู้นั้นมิใช่การรู้ที่เป็นของท่านเอง…”

คนที่ทวนกระแส,คนที่ตอบโต้ และคนส่วนใหญ่

…หากท่านต้องการที่จะเป็นคนที่จริงแท้ ท่านจะต้องไม่สนใจมากนักเกี่ยวกับสิ่งที่สังคมพูดถึง ข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่าให้ท่านไปต่อต้านสังคม ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่การทวนกระแส แต่นั่นเป็นการตอบโต้
ท่านปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของท่าน ถ้าท่านเข้ากับสังคมได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปต่อต้านมัน ถ้าท่านเข้ากับสังคมไม่ได้ เข้าได้ไม่สนิท ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำตามสังคม
สิ่งที่แตกต่างระหว่างคนที่ทวนกระแสกับผู้ที่ตอบโต้ ก็คือ คนที่ตอบโต้จะต่อต้านสังคมในทุกรูปแบบ เขาตัดสินใจไว้แล้วว่าเขาจะต่อต้านสังคมไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เขาตั้งใจแล้วว่าจะต่อต้านสังคม ถึงแม้บางครั้งสังคมอาจจะถูก เพราะสังคมคงไม่ผิดไปทุกเรื่องหรอก แม้แต่คนบ้าบางครั้งก็ยังถูกต้อง สังคมบ้าๆนี้ก็เช่นกันบางครั้งก็ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วมันคงจะไม่ดำรงอยู่ได้หรอก การดำรงอยู่ได้แสดงว่าอย่างน้อยบางสิ่งบางอย่างก็คงต้องถูกต้องบ้าง
คนที่เอาแต่ตอบโต้นั้นไม่ต่างกับคนส่วนใหญ่เพียงแต่หันไปคนละขั้วเท่านั้น คนส่วนใหญ่จะทำตามสังคมไม่ว่าจะถูกหรือผิด
“ถูกหรือผิดไม่สำคัญนี่เป็นประเทศของข้า
ถูกหรือผิดไม่สำคัญนี่เป็นศาสนาของข้า
ถูกหรือผิดไม่สำคัญนี่เป็นนักบวชของข้า
ถูกหรือผิดไม่สำคัญนี่เป็นคัมภีร์ของข้า”
นั่นคือคนส่วนใหญ่
ในขณะที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่งนั้นพูดว่า
“ถูกหรือผิด ข้าก็จะไม่ทำตามสังคม”
นี่เป็นพวกที่ตอบโต้
พวกเขาเป็นแบบเดียวกันไม่ได้ต่างกันเลย
แล้วพวกที่ทวนกระแสล่ะเป็นอย่างไร? คนที่ทวนกระแสเป็นคนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคมเลย เขาเพียงแต่ดำรงชีพผ่านแกนในสุดของเขาเท่านั้น เขาเป็นคนที่ทำตามเต๋าของเขา ถ้าสังคมเหมาะสมเข้ากันได้กับเต๋าภายในนั้นก็ดีไป เขาจะไปกับสังคม เขาไม่ใช่พวกที่ตอบโต้ ถ้าสังคมไม่เหมาะสมเข้ากันไม่ได้กับเต๋าภายในของเขา เขาก็ไปคนเดียว เขาไม่ใช่คนที่ยึดประเพณี ระเบียบแบบแผนหรือติดกรอบ บรรทัดฐานของเขาอยู่ที่จิตวิญญาณภายในตัวเขา

ความขัดแย้งทางความคิด

“…นับเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วที่ปรัชญาต่างๆ ไม่เคยลงเอยกันได้เลย ไม่เคยมีข้อสรุปใดที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันเลย มันไม่เคยเกิดขึ้นและก็คงจะไม่เกิดขึ้น นักปรัชญาสองคนไม่สามารถจะตกลงกันได้ เพราะการที่จะตกลงกันได้แสดงว่าต้องเห็นเหมือนกันซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเข้าถึงความจริงแท้เท่านั้น
ถ้าท่านเข้าถึงความจริง และข้าพเจ้าก็เข้าถึงความจริง เราก็จะเห็นเหมือนกัน เราก็จะตกลงกันได้ จะไม่มีปัญหาใดๆ ท่านรู้ความจริงแท้อันนั้น ข้าพเจ้าก็รู้ความจริงแท้อันเดียวกัน แล้วเราจะมีข้อขัดแย้งได้อย่างไร?
แต่ทว่าข้อขัดแย้งเป็นไปได้ ถ้าข้าพเจ้ามีทฤษฎีของข้าพเจ้า และท่านมีทฤษฎีของท่าน ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีทางที่เราจะตกลงกันได้
การเห็นด้วยจะเกิดผ่านประสบการณ์เท่านั้น ประสบการณ์ทำให้ตกลงกันได้
ข้อโต้แย้งมักทำให้ตกลงกันไม่ได้ ข้อโต้แย้งหนึ่งนำไปสู่อีกข้อโต้แย้งหนึ่งเป็นไปอย่างไม่จบสิ้น เมื่อคนทั้งสองคนโต้แย้งกัน คนทั้งสองต่างก็ไม่ถูกต้อง คนทั้งสองต่างก็ผิด ไม่มีใครเป็นฝ่ายถูก…”
บางส่วนจากหนังสือเต๋า – มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง
OSHO
“นายเรียนรู้”
บุญเลิศ คณาธนสาร
www.nairienroo.com

Related Posts