fbpx

(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ​31/08/2557)

ความยากของการแข่งขันไม่ว่าจะในเกมธุรกิจ หรือเกมกีฬา ก็คือ ผู้ที่เป็นอันดับหนึ่งก็ต้องพยายามรักษาความเป็นอันดับหนึ่งของตัวเองไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกันผู้แข่งขันรายอื่น ๆ ก็ต้องพยายามที่จะโค่นผู้นำให้ได้

การแข่งขันที่ยุติธรรมที่สุดก็คือ แต่ละฝ่ายมีทรัพยากรที่เท่า ๆ กัน แต่ในการแข่งขันที่เกิดขึ้นจริงนั้นมันคือ เกมอยุติธรรม (Unfair Game) ที่ผู้แข่งขันที่มีเงินทุนหนากว่า มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากกว่า จะเป็นผู้ได้เปรียบในการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้แข่งขันที่มีเงินทุนน้อยกว่า จะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ผู้เขียนเองเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “MONEYBALL” ที่นำแสดงโดย Brad Pitt ที่สร้างจากเรื่องจริงของชีวิต Billy Beane ผู้จัดการทีมเบสบอล Oakland Athletics ที่ต้องการนำพาทีมของเขาไปให้ถึงแชมป์ ภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด ที่มีงบประมาณในการทำทีมเพียงปีละ 40 ล้านเหรียญ

MoneyBall_Poster

ในปี 2001 Billy Beane สามารถพาทีมทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศไปพบกับทีมยักษ์ใหญ่อย่าง New York Yankees ที่มีงบประมาณในการทำทีมมากกว่าเกือบ 3 เท่า (ปีละ 115 ล้านเหรียญ) ซึ่งทีมของเขาก็สามารถทำผลงานได้อย่างน่าทึ่ง เอาชนะทีม New York Yankees ได้ก่อนใน 2 เกมแรก ก่อนที่จะพ่ายแพ้ไปด้วยสกอร์รวม 2-3 เกม

หลังจากนั้นบรรดาผู้เล่นดัง ๆ ของทีม Oakland Athletics ก็โดนทีมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายทุ่มซื้อตัวไปร่วมทีมด้วย ทำให้ Billy Beane เผชิญกับความยากลำบากในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ เขาพยายามที่จะของบประมาณในการทำทีมเพิ่ม แต่เจ้าของทีมไม่อนุมัติ

สิ่งที่ Billy Beane เลือกทำได้คงมีอยู่แค่ 2 ทาง คือ

  1. ยอมจำนน ทำทีมไปแบบแกน ๆ ตามงบประมาณที่มี
  2. ไม่ยอมจำนน จะทำอย่างไรใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

Billy Beane เลือกทางเลือกที่ 2 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพาทีมไปให้ถึงฝันให้ได้ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดทำให้ยากมากที่เขาใช้แนวคิดแบบเดิม ๆ ในการสรรหาตัวผู้เล่นโดยอาศัยทีมแมวมองเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เล่นที่เล็งไว้จากประสบการณ์ของทีมแมวมอง ก็จะเป็นผู้เล่นคนเดียวกับที่ทีมใหญ๋ ๆ เล็งไว้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเลยที่เราจะได้ตัวผู้เล่นคนที่ต้องการมา ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องทำก็คือ คิดให้ต่างออกไป (Think Different)

มีประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่ Billy Beane พูดกับทีมแมวมองของเขาว่า

“If we try to play like the Yankees in here, we will lose to the Yankees out there.”

“ถ้าเรายังคิดแบบ Yankees อยู่ เราก็จะแพ้ Yankees ในสนาม”

Billy Beane ไปคว้าตัว Peter Brand นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจากมหาวิทยาลัย Yale มาช่วยในการคัดเลือกหาตัวผู้เล่นที่เหมาะสมกับทีม ด้วยอาศัยแนวคิดทฤษฎี “MONEYBALL” ของ Bill James ผู้หลงใหลในเกมกีฬาเบสบอล แม้ว่าเขาเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานผลิตอาหารแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ได้คิดค้นการประเมินคุณค่าผู้เล่นด้วยหลักการตัวเลข และสถิติในการทำแต้ม

แม้ว่าในตอนต้นฤดูกาลด้วยความยังไม่ลงตัวทั้งตัวผู้เล่นเอง และความไม่ลงรอยกันระหว่าง Billy Beane กับโค้ชที่เป็นคนจัดตัวผู้เล่นข้างสนาม จนทำให้ทีมพ่ายแพ้ติดต่อกันถึง 11 นัด แต่ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางที่เลือก และต้องการพิสูจน์ให้เห็นดำเห็นแดงไปเลย จึงทำให้ Billy Beane ตัดสินใจรื้อทีมครั้งใหญ่อีกครั้ง ขายตัวผู้เล่นที่ไม่อยู่ในแผนการทำทีมออกไป จนสามารถนำทีม Oakland Athletics ทำสถิติชนะติดต่อกันสูงสุด 20 นัด เป็นประวัติการณ์ในรอบ 103 ปีของอเมริกันเบสบอลลีก ทำลายสถิติของทีมยักษ์ใหญ่อย่าง New York Yankees และ Red Sox ที่เคยทำไว้ 19 นัดติดต่อกันได้อย่างน่าทึ่ง

แง่คิดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่อง “MONEYBALL” ชี้ให้เห็นเลยว่า ภายใต้การบริหารงานที่มีทรัพยากร และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น หากเราจะคิดต่อกรกับยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำนั้น

“เราต้องใช้กึ๋นเข้าสู้ เชื่อมั่นในเส้นทางที่ตัดสินใจเลือก และกัดไม่ปล่อยจนกว่าจะสำเร็จ”

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts