เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 ผู้เขียนได้ไปร่วมงานสัมมนา “Super Corporate Power สร้างพลังเพื่อองค์กรที่แข็งแกร่ง” ที่จัดโดย ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ นานมีบุ๊คส์ ก่อนเริ่มงานสัมมนาผู้เขียนได้แวะเลือกซื้อหนังสือที่บูธของนานมีบุ๊คส์
หนึ่งในหนังสือเล่มหนึ่งที่เลือกมาวันนั้น และอยากจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือ หนังสือที่ชื่อว่า “คุยกับลูกด้วยวิธีชี้แนะดีกว่า Coaching Conversation”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำหน้าที่วิทยากร และที่ปรึกษาอย่างผม ที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอมุมมองในการนำทักษะการ Coaching ที่นิยมใช้ในแวดวงธุรกิจ และการพัฒนาตนเอง มาใช้ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ และคุณครู
รศ.ดร.สายสุรี จุติกุล เขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้ไว้โดนใจว่า “เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เวลาที่เราจะเลี้ยงไก่หรือสัตว์เลี้ยง ผู้ที่อยากเลี้ยงให้ดีและให้ได้ผลก็จะศึกษาว่าควรเลี้ยงอย่างไร หรือเราอยากจะปลูกต้นกุหลาบหรือกล้วยไม้ หรือต้นไม้อื่นใด ผู้ปลูกก็อยากศึกษาเพื่อให้ดูแลต้นกุหลาบหรือต้นไม้เหล่านั้นให้ดีที่สุด แต่พอพ่อแม่จะต้องเลี้ยง “คน” (คือลูก) จะมีน้อยคนที่ศึกษาว่า จะเลี้ยงลูกอย่างไร และวิธีใด จึงจะได้ผลดีที่สุด”
อะไร คือ ความแตกต่างระหว่าง “การสั่งสอน (Teaching)” กับ “การชี้แนะ (Coaching)” หากพ่อแม่-คุณครูนิยมใช้วิธี “การสั่งสอน” สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ก็คือ “การสั่ง” นั้นจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ถูกกดขี่ เกิดความรู้สึกกลัวถูกลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม ส่วน “การสอน” ก็จะทำให้เด็กได้แค่เรียนรู้ว่า คืออะไร (What) แต่ไม่ได้ถูกฝึกให้คิดว่าทำไม (Why)
แต่หากพ่อแม่ และคุณครูปรับตัวมาใช้วิธี “การชี้แนะ” สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ก็คือ “การชี้” จะทำหน้าที่ช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เด็กเห็นจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) ของตนเอง ส่วน “การแนะ” จะช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหา และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ทำตามที่พ่อแม่ และคุณครูบอกทั้งหมด
บทบาทสำคัญของพ่อแม่ และคุณครู ใน “การชี้แนะ (Coaching)” คือ “การดึงศักยภาพ และความอยากทำของเด็กออกมา เพื่อให้สามารถคิด และทำได้ด้วยตนเอง” ซึ่งการที่เด็กจะนำเอาความสามารถของตนเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามี “ความสนใจอยากทำ” หรือเปล่า ถ้าลองมี “ความสนใจอยากทำ” แล้วละก็ จะสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ใครบังคับ โดยที่ “ผู้ชี้แนะ (Coach)” ต้องมีความเชื่อมั่นว่า “มนุษย์เราไม่ว่าใคร ก็สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
3 ทักษะสำคัญของ “ผู้ชี้แนะ (Coach)”
- การฟัง – ให้ฟังอย่างตั้งใจ สบตา อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ และใช้เทคนิคการพูดซ้ำทวนประโยคที่เด็กพูดแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา เพื่อแสดงให้เห็นความรู้สึกที่มีร่วมกัน
- การถาม – ให้ตั้งคำถามให้ฉุกคิด อย่าถามเพียงแค่ว่าใช่หรือไม่ใช่ ตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสกัดเอาความสามารถที่เด็กมีออกมา ใช้รูปแบบคำถามง่าย ๆ ได้แก่ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น (What)? เพื่อให้เด็กได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วค่อยชวนคิดวิเคราะห์ต่อว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น (Why)? เพื่อให้เด็กได้วิเคราะห์หาสาเหตุที่เกิดขึ้น และตบท้ายด้วยคำถามว่า แล้วต่อไปจะทำอย่างไร (How) ? เพื่อให้เด็กได้คิดค้นหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยที่พ่อแม่ และคุณครู ทำหน้าที่ “ผู้ชี้แนะ (Coach)” เท่านั้น ด้วยกระบวนการตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้ จะทำให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ด้วยตนเอง และเต็มใจที่จะลงมือทำในสิ่งที่ได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง
- การแสดงการยอมรับ – ให้แสดงการยอมรับอย่างจริงใจ เมื่อเด็กได้ตั้งใจลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอย่างไร ทำให้เด็กรู้ว่ามีคนใส่ใจ และพร้อมยืนเคียงข้าง ทำหน้าที่ช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เด็กเห็นจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) ของตนเอง
หากพ่อแม่ และคุณครูได้ศึกษาเรื่อง “การชี้แนะ (Coaching)” ผ่านกรณีศึกษา 51 สถานการณ์ในหนังสือเล่มนี้ และนำไปฝึกฝน ปรับเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สั่งสอน (Teacher)” เป็น “ผู้ชี้แนะ (Coach)” ให้มากขึ้น จะช่วยทำให้เด็กไทยคิดเป็น ทำเป็น และยืนหยัดได้ด้วยตนเองในอนาคตอย่างแน่นอน
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com