fbpx

โลกในยุคปัจจุบัน คือ สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Society) คนที่มีสามารถในการเรียนรู้ (Learning ability) ที่ดีจึงจะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

Books

หากเปรียบเทียบ “หนังสือ คือ ประตูสู่โลกกว้าง” แล้วละก็ “google คงเปรียบเทียบได้กับ หน้าต่างมหัศจรรย์”

ด้วยจำนวนข้อมูลมหาศาลที่ถาโถมเข้ามาดั่งคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้เกิดความสลับซับซ้อนในการเข้าถึงความจริงยากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญของนักเรียนรู้ที่ดี ก็คือ การมีหัวใจนักปราชญ์ (สุ-จิ-ปุ-ลิ)

“สุ” ย่อมาจากคำว่า “สุตต” คือ การฟัง

“จิ” ย่อมาจากคำว่า “จินตน” คือ การคิด

“ปุ” ย่อมาจากคำว่า “ปุจฉา” คือ การถาม

“ลิ” ย่อมาจากคำว่า “ลิขิต”  คือ การเขียน

สิ่งที่เราพบและสังเกตได้จากอาการของผู้เรียนในห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับใดตั้งแต่ ประถม มัธยม จนถึง มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งวัยทำงาน สิ่งที่แทบไม่แตกต่างกันเลย คือ ผู้เรียนไม่กล้าที่จะยกมือถาม

อะไร คือ เหตุที่ผู้เรียนไม่กล้ายกมือถาม? ความอายผู้สอนกับเพื่อนร่วมห้องแค่นั้นหรอกหรือ?

ผู้เขียนคิดว่าคงไม่ใช่ หลายคนกล่าวว่าเพราะ “เด็กไทยคิดไม่เป็น” เมื่อคิดไม่เป็น เลยไม่รู้จะถามอะไร

ดังนั้นกระบวนการฟัง และกระบวนการคิด จึงเป็นทักษะที่จำเป็นที่จะนำไปสู่การตั้งคำถาม

สิ่งสำคัญในกระบวนการฟัง ก็คือ การที่จะต้องฝึกจับประเด็นสำคัญของเรื่องราวนั้นให้ได้ว่า

  1. ใจความสำคัญของเรื่องราวในแต่ละส่วน คือ อะไร
  2. องค์ประกอบ (ตัวละคร) ของ เรื่องราวนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
  3. องค์ประกอบ (ตัวละคร) ของเรื่องราวนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

จะเห็นได้ว่าทักษะที่ใช้ในกระบวนการฟังนั้น หลัก ๆ ก็จะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการอ่าน แต่การอ่านนั้นง่ายกว่า เพราะเราสามารถอ่านซ้ำได้หลายรอบจนกว่าเราจะเข้าใจ แต่การฟังนั้นเรามีโอกาสที่จะได้ฟังเพียงครั้งเดียว

ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายความเป็นนักเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็ก ก็คือ การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน ล่าสุดผมได้มีโอกาสเดินทางไป อ.บ้านนา จ.นครนายก เพื่อไปร่วมงาน “การประกวดนักอ่านบ้านนา” ที่จัดโดยมูลนิธินักอ่านบ้านนา ของ ดร.ไสว บุญมา ที่จัดต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ 8 แล้ว

จากการได้พูดคุยกับ ดร.ไสว บุญมา ท่านได้เปรียบโครงการเล็ก ๆ นี้ เหมือน “ผีเสื้อตัวน้อยกระพือปีก” ซึ่งท่านก็อยากจะขยายผลแนวคิดโครงการส่งเสริมการอ่านนี้ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง

จาก “ผีเสื้อตัวน้อย” ก็จะกลายเป็น” ฝูงผีเสื้อ” แล้วเมื่อกระพือปีกพร้อมกันเมื่อไหร่…การศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แล้วเมื่อนั้นจะไม่มีใครมาว่าเด็กไทยได้ว่า “เด็กไทยคิดไม่เป็น”

สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฝูงผีเสื้อ ติดต่อผู้เขียนได้ที่ boonlert.alert@gmail.com

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts