fbpx

เส้นทางสู่วิทยากรนอกกรอบ…Day I

24 พ.ค. 2557 คือ วันแรกที่ผมได้เข้าอบรมหลักสูตร “Innovative Trainer” กับ อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย ซึ่งตัวผมเองก็รู้จักกับอ.ไชยยศ มาประมาณ 4-5 ปี แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสร่ำเรียนเป็นลูกศิษย์แบบจริง ๆ จัง ๆ ซักที จนตัดสินใจได้ว่าอยากผันตัวเองมาเป็นวิทยากรมืออาชีพแบบเต็มตัว ก็ต้องมาเรียนแบบเข้มข้นกับ Pro.Trainer ขั้นเทพอย่าง อ.ไชยยศ ซักหน่อย

ความเข้มข้นเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนถึงวันเริ่มเรียน อ.ไชยยศ ก็ assign การบ้านให้ผู้เรียนทั้ง 8 คน เขียน Course Outline ของหลักสูตรที่จะสอนในอนาคต และให้เตรียมการสอนมา Demo ในเวลา 10 นาทีในวันแรก ตัวผมเองก็มุ่งมั่นทำให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนที่จะเตรียมไป Demo ก็เตรียม Clip VDO และ Game ไปเพียบ

เริ่มต้น อ.ไชยยศ ก็เกริ่นนำด้วยแก่นการฝึกอบรมของวิทยากร ซึ่งมี 3 ส่วน คือ

  1. Content – สิ่งที่วิทยากรต้องการถ่ายทอดให้กับผู้เรียน
  2. Methods – วิธีการที่วิทยากรเลือกใช้เพื่อที่จะนำ Content ไปสู่ผู้เรียน
  3. Delivery – ภาค Action ที่จะทำให้เกิดผลจริง

หลังจากนั้น อ.ไชยยศ ก็เริ่มสาธิตก่อน โดยได้รับโจทย์จากลูกค้าว่าต้องการพัฒนา Supervisor ให้สามารถนำทีมให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็ได้เรียนรู้เทคนิคจากอาจารย์ในช่วงนี้มากมาย เช่น การเลือก Game ให้เหมาะโจทย์, เทคนิค Storytelling, เทคนิค Small Group Discussion

DayI_001

จากนั้นก็เริ่มให้ผู้เรียนทั้ง 8 คนซ้อมสอนจริงคนละ 10 นาที แต่ละคนก็มี เนื้อหา เทคนิค แตกต่างกันไป ซึ่งพอผู้เรียนซ้อมสอนเสร็จ อ.ไชยยศ และ อ.เอ วรยุทธ์ ที่มานั่ง Observe ก็จะให้ Feedback ทันที ในส่วนของผมนั้นอย่างที่บอกเตรียม Clip VDO และ Game มาเพียบ พอถึงเวลาซ้อมสอนจริง ใช้เวลาไป 10.14 นาที เกินไป 14 วินาที นั่นยังไม่เท่าไหร่ แต่พอสอนจบ อ.ไชยยศ ไล่ถามผู้เรียนคนอื่น ๆ ว่าได้เรียนรู้อะไรจากเราบ้าง ก็อึ้งกันไปหมด เพราะ 10 นาทีนั้น เราเตรียมอาวุธไปเพียบ เรียกว่า Methods หลากหลายมาก แต่ไม่สามารถนำพา Content ไปสู่ผู้เรียนได้ ถ้าภาษามวยคงต้องบอกว่า “ออกหมัดเยอะ แต่ไม่เข้าเป้า” ไม่สามารถ Debrief Clip VDO และ Game เข้าสู่ตัว Content ได้ ก็ต้องกลับไปแก้ไขใหม่เพื่อกลับมาซ้อมในรอบหน้า 15 นาที

ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Comment อื่น ๆ จาก อ.ไชยยศ ที่ให้ Feedback ผู้เรียนคนอื่นด้วยนั้น ก็มีดังนี้

  • ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ว่าผู้เรียนคือใคร?
  • การถามคำถามกับผู้เรียน ต้องถามให้ Hook เข้าประเด็นที่เราต้องการ อย่าถามกว้าง ๆ
  • เทคนิคในการใช้ Flipchart ในการสอน ทั้งการเลือกใช้ขนาดหัวปากกาต้องเลือกใหญ่ไว้ก่อน รวมไปถึงสีที่เลือกใช้ก็ต้องเลือกสีที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน (แดง,ดำ,น้ำเงิน) รวมไปถึงการใช้สีให้หลากหลายเพื่อให้เห็นจุดเน้น จุดแตกต่าง
  • การจดจำชื่อผู้เรียนให้ได้ ให้ถูกต้อง การใช้สรรพนามคุณ ในการเรียกผู้เรียน ทำให้ดูห่างเหินมาก ควรเรียกชื่อต่อท้าย
  • การอธิบายขั้นตอนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดีนั้น ควรแสดงตัวอย่างให้ผู้เรียนเห็นด้วย
  • การใช้เทคนิค TFU (Test For Understanding) เพื่อทบทวนความเข้าใจของผู้เรียน
  • การใช้เทคนิค Analogy ยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจในการอธิบายเรื่องยาก ๆ
  • ต้องสรุป Know-how ที่เรามีให้ออกมาเป็นขั้นตอน Step ที่เข้าใจง่าย เพราะลูกค้าชอบ How-To
  • อย่าปล่อยให้เกิด Dead air หากช่วงใดเป็นช่วงทำกิจกรรมแบบเงียบ ๆ ควรเปิดเพลงคลอ

ในช่วงสุดท้าย อ.ไชยยศ ได้เพิ่มเติมในสิ่งสำคัญ คือ อะไรคือแก่นวิทยากร ด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า “หากต้องหาวิทยากรมาสอนในหลักสูตร Leadership, Positive Attitude, Personality เรานึกถึงใคร?” เพื่อแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นตัวจริงในเรื่องนั้น คือ

  1. รู้จริงในสิ่งที่สอน (Content Expert)
  2. ทำได้จริงในสิ่งที่สอน (Action Trainer)
  3. รักและหลงใหลในสิ่งที่สอน (Passion Trainer)

สิ่งสำคัญในเส้นทางวิทยากร คือ “อย่าเห็นแก่เงิน รับงานโดยไม่ดูว่าเราทำได้หรือไม่ หากรับซี้ซั้ว เราจะตายก่อนเกิดในวงการ”

นอกจากนั้นแล้วการออกแบบหลักสูตรต้องคำนึงถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ว่าต้องการให้เราไปพัฒนาผู้เรียนในเรื่องใด

  1. พัฒนาให้มีความรู้ / ความเข้าใจ (Knowledge)
  2. พัฒนาให้มีความสามารถ / ทำได้จริง (Skill)
  3. พัฒนาให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด / มุมมอง / ทัศนคติ (Attitude)

สุดท้ายแล้วต้องเข้าใจว่าผู้เรียนเป็นคน Gen ไหน Baby Boom, Gen X, Gen Y รวมไปถึงมีสไตล์การเรียนรู้ในแบบใด

  1. เรียนรู้จากการดู (Visual Learner)
  2. เรียนรู้จากการฟัง (Auditory Learner)
  3. เรียนรู้จากการอ่าน (Reading Learner)
  4. เรียนรู้จากการลงมือทำ / เคลื่อนไหวร่างกาย (Kinesthetic Learner)

เรียนรู้ในวันแรกแบบเต็ม ๆ อย่างนี้ ยังมีการบ้านที่จะต้องไปแก้ไข Course Outline ทำ Program Time Table และเตรียมตัวสอนในสัปดาห์หน้า 15 นาที แล้วจะเก็บสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ…

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts