fbpx

GMO หรือไม่ สิทธิที่ผู้บริโภคควรรู้

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การออกมารวมตัวคัดค้าน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

151209-TH-GMO-DraftBill-800

โดยข้อเท็จจริงแล้วในเรื่องสิทธิการรับรู้เรื่อง GMOs ของผู้บริโภคในประเทศไทยฉลาก มีมานานตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ครอบคลุมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารที่มี GMOs เพียง 2 ชนิด คือ ถั่วเหลืองและข้าวโพด ใน 22 รายการ และยอมรับให้มีการตกค้างของวัตถุดิบที่มี GMOs ร้อยละ 5 เนื่องจากในสมัยนั้นห้องทดลองของประเทศไทย สามารถตรวจสอบการตกค้าง GMOs ได้เพียงร้อยละ 3

ในต่างประเทศมีกระแสตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งบริษัท เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารชั้นนำก็มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรป (EU) ที่จะไม่ใช้วัตถุดิบที่มาจาก GMOs

หากร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ นี้ผ่านออกมา คงเป็นที่แน่นอนว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ มากกว่าเกษตรกรรายย่อย และจะมีการไหลทะลักเข้ามาของพืช GMOs อีกมากมายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

คำถาม คือ สิ่งที่ผู้บริโภค บริโภคอยู่ทุก ๆ วันนั้นปนเปื้อน GMOs หรือไม่ ?

คำตอบ คือ มีแต่ผู้ผลิตเท่านั้นที่รู้ดี อยู่ที่ว่าจะกล้าบอกความจริงนั้นให้กับผู้บริโภคหรือเปล่า 

ในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้กล่าวถึง ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ต่อผู้บริโภค ไว้ดังนี้

ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer issues)

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 1 : การตลาดที่เป็นธรรม ข้อมูลที่เป็นจริงและไม่เบี่ยงเบน และการปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม (Fair marketing, factual and unbiased information and fair contractual practices)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

1.ไม่กระทำการใด ๆ ที่หลอกหลวง ทำให้เข้าใจผิด ฉ้อโกงหรือไม่เป็นธรรม ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ รวมทั้งปกปิดข้อมูลที่จำเป็น

2.ทำการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ครบถ้วน สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบและตัดสินใจของผู้บริโภค

3.เปิดเผยราคารวมและภาษี ข้อตกลงและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์และบริการ อย่างครบถ้วน ครอบคลุม

  • อุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน
  • ค่าจัดส่ง
  • ดอกเบี้ยต่อปี เมื่อมีการให้สินเชื่อ
  • จำนวนงวดการจ่ายเงิน
  • วันครบกำหนดของงวดการจ่ายเงิน
  • อัตราค่าปรับกรณีชำระไม่ตรงเวลาที่กำหนด
  • เงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.แสดงหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างของผลิตภัณฑ์และบริการเมื่อลูกค้าร้องขอ

5.ไม่ใช้ข้อความ เสียง หรือสื่อรูปภาพ ที่เกี่ยวข้องกับเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ความพิการหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เพื่อบิดเบือนข้อความที่สื่อสารให้ผู้บริโภค

6.การทำโฆษณาและการตลาด ควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่เด็กและกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะได้รับ รวมทั้งไม่เข้าร่วมในกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อกลุ่มคนเหล่านั้น

7.ให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยใช้ภาษาที่มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง เข้าใจง่าย และสามารถเปรียบเทียบได้ ณ จุดขาย โดยเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ โดยครอบคลุมถึง

  • ลักษณะทางคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการ
  • ที่อยู่ขององค์กร เบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ เมื่อมีการขายภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ รวมถึงทางอินเทอร์เน็ต (อี-คอมเมิร์ซ) หรือการสั่งซื้อทางไปรษณีย์

8.ให้ข้อมูลลักษณะที่สำคัญของผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและความปลอดภัย กระบวนการที่ก่อให้เกิดอันตราย วัตถุดิบที่เป็นอันตราย และสารเคมีอันตรายในตัวผลิตภัณฑ์หรือที่ปล่อยออกจากผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิต

9.การทำสัญญากับผู้บริโภค

  • เขียนด้วยภาษาที่ชัดเจน
  • กำหนดเงื่อนไขในสัญญาอย่างเป็นธรรม โดย
  • ไม่หลีกเลี่ยงการรับผิดต่อผู้บริโภค
  • กำหนดสิทธิในการเปลี่ยนแปลงราคาที่เหมาะสม
  • ไม่ถ่ายโอนความเสี่ยงให้แก่ผู้บริโภค
  • ไม่กำหนดระยะเวลาสัญญาที่ยาวนานเกินไป
  • ให้สินเชื่อในอัตราที่สมเหตุสมผล
  • ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอเกี่ยวกับราคา ระยะเวลาเงื่อนไข และค่าใช้จ่าย ระยะเวลาของสัญญาและช่วงเวลาที่ยกเลิกสัญญา

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 2 : การคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค (Protecting consumers’ health and safety)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรดำเนินการปกป้องด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งให้การดูแลกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเเป็นพิเศษโดย

  1. จัดเตรียมผลิตภัณฑ์และบริการในสภาพที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคภายใต้เงื่อนไขการใช้งานปกติ
  2. ประเมินกฎหมายด้านสุขภาพและความปลอดภัย กฎระเบียบ มาตรฐานและข้อกำหนดอื่น ๆ อย่างครอบคลุม เพื่อระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
  3. กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการเรียกเก็บ หรือเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการจัดจำหน่าย ในกรณีที่พบว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดอาจเป็นอันตราย มีข้อบกพร่องที่ร้ายแรง มีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด หรือมีการเข้าใจผิด
  4. ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยชี้บ่งกลุ่มผู้ใช้งาน และมีมาตรการป้องกันอันตราย เริ่มจากการออกแบบให้เกิดความปลอดภัย การคาดการณ์การใช้งานที่ผิดพลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการ และอันตรายที่จะเกิดขึ้นทุกขั้นตอน กำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
  5. ออกแบบการให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่าง และข้อจำกัดของผู้บริโภค
  6. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์ หรือสารพิษที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ หรือตกค้างยาวนาน และสะสมในสิ่งมีชีวิต เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ติดฉลากบอกไว้อย่างชัดเจน
  7. ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการก่อนที่จะมีการใช้วัตถุดิบ การใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตใหม่
  8. ใช้สัญลักษณ์ที่เป็นสากลหรือร่วมกับข้อความเพื่อสื่อสาร และแจ้งเตือนให้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในสภาพการใช้งานปกติ รวมถึงการเคลื่อนย้ายหรือการจัดเก็บที่ถูกวิธีในขณะที่อยู่ในการดูแลของผู้บริโภค

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 3 : การบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable consumption)

เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น เพื่อลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดย

1.ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการรวมถึงคำแนะนำการใช้งาน

2.เสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพที่พิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดย

  • ขจัดหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่าที่จะเป็นไปได้ และหาทางเลือกอื่นที่มีผลกระทบน้อยมาใช้แทน
  • ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมได้ หรือนำกลับมาผลิตใหม่ หรือแนะนำหน่วยงานที่ให้บริการรับรีไซเคิลและกำจัดของเสีย
  • เสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง คงทน ในราคาที่สมเหตุสมผล

3.จัดเตรียมข้อมูล

  • ด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถสอบกลับในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับการผลิต การจัดส่งผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้กับผู้บริโภค
  • ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยรวมถึงประสิทธิภาพ แหล่งที่มา ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (ถ้าทำได้) ส่วนประกอบหรือส่วนผสม รวมถึงวิธีการใช้วิธีดัดแปลงทางพันธุกรรม ผลกระทบต่อสุขภาพ สวัสดิภาพของสัตว์ การใช้งานอย่างปลอดภัย การบำรุงรักษา การจัดเก็บและกำจัดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

4.ใช้ฉลากที่แสดงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม (Eco-label) ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 4 : การบริการ การสนับสนุน และการยุติข้อร้องเรียน ข้อโต้แย้งแก่ผู้บริโภค (Consumer service, support, and complaint and dispute resolution)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. กำหนดมาตรการการป้องกันก่อนการเกิดข้อร้องเรียนของผู้บริโภคโดยการเสนอทางเลือกในการรับคืนผลิตภัณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสม
  2. ทบทวนข้อร้องเรียนและปรับปรุงแนวปฏิบัติในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียน
  3. เสนอการรับประกันที่มากกว่าระยะเวลาการรับประกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้และเหมาะสมกับอายุของผลิตภัณฑ์
  4. สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนเรื่องบริการหลังการขาย และการสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งการระงับข้อพิพาทและกลไกการชดเชย
  5. กำหนดแนวปฏิบัติในการสนับสนุนและการให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคในด้านบริการ รวมถึงการยุติข้อร้องเรียน ข้อโต้แย้ง การชดเชย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศหรือสากล โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภค และไม่ขัดขวางการทวงสิทธิ์ตามกฎหมายผู้บริโภค
  6. เสนอการบำรุงรักษาหรือการซ่อมแซมในราคาที่สมเหตุสมผลและมีสถานที่ตั้งสะดวกต่อการให้บริการ

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 5 : การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (Consumer data protection and privacy)

การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรกำหนดแนวปฏิบัติที่แสดงถึงและเคารพต่อข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ที่ครอบคลุมถึง

  • การไม่ใช้ข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด โดยการให้ข้อเสนอพิเศษผูกพันในสัญญา โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ
  • การได้มาของข้อมูล ต้องถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม
  • การกำหนดวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจนทั้งก่อนหรือในระหว่างการจัดเก็บข้อมูล
  • การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ระบุ ยกเว้นได้รับการยินยอมจากผู้บริโภค หรือเมื่อมีการร้องขอจากกระบวนการทางกฎหมาย
  • การจัดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะทวนสอบข้อมูลของตนที่ให้ไว้ และมีสิทธิที่จะคัดค้านข้อมูลเหล่านี้ตามที่กฎหมายกำหนด หากการคัดค้านเป็นผล ข้อมูลต้องได้รับการลบทิ้งหรือได้รับการแก้ไขตามความเหมาะสม
  • กำหนดมาตรการปกป้อง เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่เพียงพอ
  • การเปิดเผยรายชื่อ และสถานที่ปฏิบัติงานของบุคคลที่มีหน้าที่ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร (บางครั้งเรียกผู้เก็บข้อมูล) และถือให้บุคคลนี้เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการข้างต้นและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 6 : การเข้าถึงบริการที่จำเป็น (Access to essential services)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ให้บริการที่จำเป็นควร

  1. ไม่ตัดบริการที่จำเป็นในกรณีที่ผู้บริโภคยังไม่ได้ชำระค่าใช้จ่ายโดยไม่ให้โอกาสผู้บริโภคในการหาเงินมาชำระตามระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่ตัดการให้บริการรวมที่จะกระทบต่อผู้บริโภครายอื่น
  2. กำหนดอัตราภาษี สำหรับจัดสรรเงินช่วยเหลือให้องค์กรที่ยังมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานนั้นไว้ในราคาและค่าธรรมเนียมของการให้บริการ
  3. ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยการเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการกำหนดราคาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
  4. ขยายพื้นที่และจัดเตรียมการให้บริการที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติกับผู้บริโภค
  5. ให้บริการผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีการลดการผลิตหรือหยุดชั่วคราว ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  6. บำรุงรักษาและปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยป้องกันการหยุดชะงักในการให้บริการ

ประเด็นด้านผู้บริโภคที่ 7 : การให้ความรู้และการสร้างความตระหนัก (Education and awareness)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรมุ่งเน้นให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ดังนี้

  1. ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงอันตรายจากผลิตภัณฑ์
  2. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ช่องทางที่ได้รับการชดเชย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค
  3. ฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งข้อมูลที่จัดเตรียมไว้ในคู่มือและขั้นตอนการใช้งาน
  4. ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหนักและหน่วยวัด ราคา คุณภาพ และเงื่อนไขของสินเชื่อ และความพร้อมสำหรับการให้บริการที่จำเป็น
  5. ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและข้อควรระวังที่จำเป็นต่าง ๆ
  6. ข้อมูลเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน
  7. ข้อมูลเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม
  8. ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ
  9. ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืน
  10. ข้อมูลเกี่ยวกับการกำจัดบรรจุภัณฑ์ ของเสียและผลิตภัณฑ์

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts