fbpx

ในวันนี้จะขอแนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับคนที่สนใจเรื่องการศึกษา

หนังสือนี้ชื่อว่า “How Learning Works: 7 Research-Based Principles for Smart Teaching” ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21: 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่”

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ การตั้งคำถามกับปัญหาในเรื่องที่ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการทำวิจัยนับพันชิ้น เพื่อให้เข้าใจปัญหา เข้าใจที่มาที่ไป และได้สรุปออกมาเป็นหลักการ 7 ข้อ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สอน ในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิผล

Box 13

หลักการจัดการเรียนรู้ 7 ข้อ

  1. ใส่ใจกับความรู้เดิมของผู้เรียน

ความรู้เดิมของผู้เรียนอาจจะเป็นตัวช่วย หรือเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้ ในประเด็นนี้ผู้สอนต้องมองให้ออกว่าความรู้เดิมของผู้เรียนมีช่องโหว่ และข้อบกพร่องตรงใด และต้องทำการแก้ไขเติมเต็ม ก่อนที่จะเสริมความรู้ใหม่เข้าไป

  1. สานต่อระเบียบความรู้

ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ย่อมมีการจัดระเบียบความรู้ได้อย่างลึกซึ้ง โยงใย แน่นหนา และคาดหวังว่าผู้เรียนจะมีความสามารถในการจัดระเบียบความรู้ได้อย่างตน ซึ่งผู้สอนจะต้องอธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงให้ผู้เรียนได้เข้าใจเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสานต่อระเบียบความรู้ได้ด้วยตนเอง

  1. กระตุ้นจูงใจให้เกิดความอยากเรียนรู้

พฤติกรรมของผู้เรียนนั้นเกิดจากในเรื่องคุณค่า และความคาดหมาย ซึ่งผู้สอนจะต้องเข้าใจว่าคุณค่า และความคาดหมายของผู้เรียนนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้กระตุ้นจูงใจผู้เรียนให้เกิดความอยากเรียนรู้โดยเลือกยุทธศาสตร์ให้สอดคล้อง เช่น เชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับความสนใจของผู้เรียน

  1. เรียนรู้ทีละขั้นแบบรู้จริง

เพื่อให้ผู้เรียนรู้จริงนั้น ผู้สอนจะต้องค่อย ๆ ทยอยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะในแต่ละด้าน แล้วจึงค่อยฝึกฝนผสมผสาน และบูรณาการทักษะด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเกิดความคล่องแคล่ว รู้ว่าเมื่อใดควรประยุกต์ใช้เรื่องใด

  1. ใส่ใจในการฝึกฝน และให้ Feedback

การฝึกฝนที่มีประสิทธิผลนั้น ผู้สอนต้องให้ความสำคัญในเรื่องเป้าหมาย โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน และจะต้องมีความถี่ที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ และความรู้ของตนเอง จากนั้นผู้สอนต้องให้ Feedback เพื่อชี้ให้ผู้เรียนนำไปปรับปรุงแก้ไข

  1. ใส่ใจพัฒนาการผู้เรียน และบรรยากาศการเรียนรู้

บรรยากาศการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องให้ความใส่ใจ ทั้งในแง่สภาพแวดล้อมทางปัญญา สภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมทางอารมณ์ ซึ่งบรรยากาศการเรียนรู้จะส่งผลต่อพัฒนาการผู้เรียน

  1. พัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้

สิ่งที่ผู้สอนต้องพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ ได้แก่ การประเมินงานที่ทำ การประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง การติดตามตรวจสอบการทำงานในระหว่างการปฏิบัติงาน และการใคร่ครวญถึงผลสำเร็จโดยรวมในขั้นสุดท้าย

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts